Worldwide Wealth by SCBAM : ส่องนิสัย “กระต่าย” ปี 66 เตรียมเผชิญความท้าทายของโลกลงทุน

18 มกราคม 2566

         ปี 2565 จัดว่าเป็นปีที่สินทรัพย์การลงทุนเกือบทุกประเภทต้องสะเทือน หลายสินทรัพย์มีความผันผวนและให้ผลตอบแทนลดลง ไล่กันมาตั้งแต่ตลาดหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ พันธบัตรรัฐบาล รวมถึงหุ้นกู้ของภาคเอกชน สาเหตุที่สำคัญก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างมากจนเรียกได้ว่าสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ  ธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกว่า 4.25% ภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 39 ปี (นับตั้งแต่ปี 2526) ทางฝั่งของธนาคารกลางยุโรปก็ไม่ด้อยไปกว่ากัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 2.5% ภายในระยะเวลา 5 เดือน ขณะเดียวกัน ด้านเศรษฐกิจเองก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง

         สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกปี 2566 นี้ ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง และหลายประเทศก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศยุโรปที่มีความเป็นไปได้กับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีของปี 2565 ตามมาด้วยสหรัฐ ฯ ในไตรมาสที่ 1 ในปี 2566 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF ซึ่งจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดในเดือนตุลาคม 2565 ที่มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ลงจาก 2.9% เหลือ 2.7% สาเหตุจากความเสี่ยงที่ต้องระวังในระยะข้างหน้า ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ วิกฤติพลังงานในยุโรป ผลกระทบจากนโยบายโควิดของจีน รวมถึงแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ขยายตัวในวงกว้าง แม้ว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่ก็ถือว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ตั้งไว้อยู่ที่ระดับ 2% เนื่องจากเงินเฟ้อภาคบริการที่ยังแข็งแกร่งและตลาดแรงงานที่ตึงตัวอย่างมาก ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ยังคงต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยคาดว่าอาจมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปสูงถึงระดับที่ 5% ก่อนที่หยุดขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่การปรับขนาดงบดุลก็ยังคงทยอยปรับลดต่อไป และคาดว่าตลอดทั้งปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับถอนสภาพคล่องออกไปจากระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านๆ ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า นโยบายการเงินจะยังคงมีความตึงตัวอยู่มาก


         นอกจากนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จะทำให้ตลาดการเงินยังมีความผันผวนที่สูง และจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการเติบโตของกำไรบริษัทและอัตรากำไรจากต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นปัจจัยที่กดดันต่อผลตอบแทนของตลาดหุ้น จึงมองว่าในช่วงครึ่งปีแรก การลงทุนในตลาดของตราสารหนี้มีความน่าสนใจมากกว่าตราสารทุน โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่เป็นพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำและอายุของตราสารที่ยาว เนื่องจากประเมินว่าดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นสู่ระดับสูงสุด ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เข้าลงทุนเพื่อรับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง แต่การลงทุนตราสารหนี้ ก็ยังต้องระมัดระวัง เพราะหากเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ด้อยคุณภาพ ก็อาจมีความเสี่ยงที่บริษัทเหล่านั้นจะมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง หากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่หากเป็นการลงทุนในตราสารทุน อาจดูเป็นหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โครงสร้างพื้นฐาน หรือการแพทย์ เพราะผลกำไรของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก

         อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 หากตั้งสมมติฐานไว้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง ก็คาดว่าจะเริ่มได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดการลงทุน สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกจะกลับมาฟื้นตัว หลังจากที่ตลาดได้รับรู้ปัจจัยลบต่างๆ ไปแล้ว ประกอบกับเงินเฟ้อที่ทยอยปรับตัวลดลง ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาที่ระดับเป้าหมาย อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ผ่านจุดสูงสุด ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจจะทำให้แรงกดดันต่อมูลค่าพื้นฐานของตราสารหนี้และตราสารทุนลดลงได้ และหากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางกลับมาอ่อนค่าจากการหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็มีโอกาสที่กระแสเงินทุนจากต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศฝั่งเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ที่เน้นการผลิตและส่งออก อย่างเช่น กลุ่มอุตสาหกรรม Semiconductor ที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่มีอัตราการเติบโตในระยะยาว จากการที่ได้รับแรงสนับสนุนด้านความต้องการสินค้าและบริการ และหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าพื้นฐานปรับลดลงมามาก และอัตราดอกเบี้ยที่เคยกดดันก่อนหน้าเริ่มคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าจะกลับมาให้ผลตอบแทนที่ชนะตลาดได้เร็วหากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​