กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บออมเงินให้ลูกจ้างใช้จ่ายตอนเกษียณอายุแล้วและถือว่าเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งที่นายจ้างมีให้แก่ลูกจ้าง
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมาจาก:
เงินสะสม(ส่วนของสมาชิก) : เงินที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนซึ่งจะถูกหักจากเงินค่าจ้าง ตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง
เงินสมทบ (ส่วนของนายจ้าง) : เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนเป็นประจำทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการที่จะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อหาผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ระดับความเสี่ยงที่รับได้หรือตามนโยบายการลงทุน โดยกองทุนมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายจ้างและบริษัทจัดการโดยเด็ดขาด และจะต้องนำไปจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ลูกจ้างหรือสมาชิกจึงสามารถมั่นใจได้ว่าแม้นายจ้างหรือบริษัทจัดการจะปิดกิจการลง เงินจำนวนนี้ก็ยังถือเป็นของลูกจ้างหรือสมาชิกทั้งหมดโดยไม่ผูกพันธ์กับภาระหนี้สินใดๆ ของบริษัทนายจ้าง
ส่วนประกอบของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ :
เงินสะสม
ผลประโยชน์เงินสะสม
เงินสมทบ
ผลประโยชน์เงินสมทบ
ด้านการบริหารจัดการ
ด้านหลักประกันทางการเงิน
ด้านผลประโยชน์จากการออม
ด้านภาษี
หมายเหตุ :
นโยบายการลงทุน จะเป็นการกำหนดขอบเขตในการบริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกองทุนและบริษัทจัดการ โดยปกตินโยบายการลงทุนจะต้องมีการระบุประเภทตราสารและสัดส่วนการลงทุนในตราสารแต่ละประเภท ที่กองทุนอนุญาตให้ผู้จัดการกองทุนลงทุนได้ ในการกำหนดนโยบายการลงทุน ควรเลือกนโยบายที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะ ความต้องการ และความเสี่ยงที่สมาชิกยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม การมีนโยบายการลงทุนแบบเดียว อาจไม่เหมาะกับลูกจ้างทุกคนที่มีลักษณะแตกต่างกัน จึงมีการผลักดันให้ลูกจ้างสามารถเลือกนโยบายการลงทุนเองได้ตามความเหมาะสม หรือ ที่เรียกกันว่า Employee’s Choice นั่นเอง
Employee’s Choice หรือ ระบบ “ลูกจ้างเลือกลงทุน” คือ การเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง ทั้งนี้ บลจ. ไทยพาณิชย์ ขอนำเสนอทางเลือกของ Employee’s Choice ตามนโยบายการลงทุน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนแต่ละคนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของตนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ดังรูปแบบต่อไปนี้
1. เลือกนโยบายการลงทุนเดียว
กรณีนี้ แม้ว่านายจ้างจะมีหลายนโยบายให้เลือก แต่สมาชิกจะมีสิทธิ์เลือกได้เพียง 1 นโยบายและเงินของสมาชิกจะถูกนำไปลงทุนตามนโยบายที่สมาชิกแต่ละรายเลือกไว้เท่านั้น
2. เลือกแผนการลงทุนแผนใดแผนหนึ่ง
กรณีนี้ นายจ้างอาจกำหนดให้มีแผนการลงทุนได้หลายแบบ ซึ่งแต่ละแผนการลงทุนจะมีสัดส่วนการลงทุนในนโยบายต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ และสมาชิกจะสามารถเลือกแผนการลงทุนได้ตามความเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่ตนเองสามารถรับได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุนจะเป็นผู้กำหนด แผนนโยบายให้และสมาชิกสามารถเลือกได้คนละ 1 แผนการลงทุน
3. เลือกกำหนดสัดส่วนการลงทุนได้ตามต้องการ (DIY)
กรณีนี้ คณะกรรมการกองทุนอาจกำหนดให้มีนโยบายการลงทุนหลายนโยบาย โดยเปิดให้สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนและกำหนดสัดส่วนการลงทุนได้ตามความต้องการเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง โดยเงินสะสมและสมทบของสมาชิกจะถูกกระจายไปในแต่ละนโยบายการลงทุนตามสัดส่วนที่เลือก และผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับแต่ละนโยบายการลงทุน
สมาชิกสามารถเลือกกำหนดสัดส่วนการลงทุนได้ตามต้องการ (DIY)