Worldwide Wealth by SCBAM : ลงทุนแบบ Risk Parity ดีอย่างไร ?

16 มกราคม 2560

          ด้วยสภาพตลาดการลงทุนโดยรวมที่มีความผันผวนสูง หนึ่งในแนวทางการลงทุนที่นักลงทุนหลายท่านคุ้นเคยและเลือกลงทุนในช่วงที่ผ่านมาน่าจะเป็นกลยุทธ์การลงทุนแบบผสมหลายสินทรัพย์ หรือที่เรียกว่า Multi-Asset Strategy ซึ่งผมเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้นะครับ เพราะการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใดเพียงสินทรัพย์เดียวมีความเสี่ยงมากเกินไป และการจะจับช่วงเวลาตลาดเพื่อซื้อหรือขายสินทรัพย์แต่ละประเภทก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก แต่การจัดสรรสินทรัพย์นั้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยหนึ่งในวิธีที่หลายท่านคุ้นเคยผมขอเรียกว่าเป็นวิธีการจัดสรรสินทรัพย์แบบมาตรฐาน หรือ Traditional approach ก็คือ การกำหนดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ 50% ลงทุนในหุ้น 50% เป็นต้น 

          และผู้จัดการกองทุนก็ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในตราสารรายตัวตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา แต่สัดส่วนการลงทุนหลักจะไม่เปลี่ยนไปจากกรอบใหญ่ที่กำหนดไว้มาก ซึ่งแนวทางการลงทุนเช่นนี้ก็มีนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าการจัดสรรสินทรัพย์จากการแบ่งสัดส่วนเงินลงทุน คือ ถ้ามีเงิน 100 บาท แบ่งว่า 50 บาทจะลงทุนในตราสารหนี้ และอีก 50 บาทจะลงทุนในหุ้น เช่นนี้ ทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงในระยะสั้นที่กระจุกตัวสูงในหุ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนในระยะยาว เพราะด้วยลักษณะพื้นฐานของหุ้นที่มีความผันผวนสูงเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ หากเราแบ่งเงินลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้ 50% พอมองในด้านความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม ความเสี่ยงส่วนมากกว่า 90 – 95% จะมาจากหุ้นครับ

          อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การจัดสรรสินทรัพย์ตามแนวคิด Traditional approach นี้ ประสบความสำเร็จก็คือเรื่องของค่าสหสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ หรือที่เรียกว่า Correlation กล่าวคือ พอร์ตการลงทุนที่ดีที่จะได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงสูงสุดควรจะประกอบไปด้วยสินทรัพย์ที่มี Correlation ผกผันกัน คือในแต่ละช่วงเวลา ถ้าสินทรัพย์ตัวหนึ่งราคาขึ้น อีกตัวหนึ่งราคาจะลง แต่ด้วยสภาวะตลาดที่ผันผวนมากเช่นปัจจุบัน ทฤษฎีที่เราเรียนกันมาว่าหุ้นกับตราสารหนี้มีความสัมพันธ์ผกผันกันนั้นเริ่มจะไม่เป็นจริงเสียแล้ว แนวคิดการลงทุนที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์เป็นปัจจัยหลักในการช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนจึงเริ่มทำได้ยากมากขึ้นครับ

          ด้วยแนวคิดนี้ จึงมีแนวทางการลงทุนในการจัดสรรสินทรัพย์อีกแนวหนึ่ง คือ แทนที่จะแบ่งสัดส่วนการลงทุนตามเงินลงทุน ก็ควรจะแบ่งตามความเสี่ยงหรือตามความสัมพันธ์ของสินทรัพย์กับปัจจัยกระตุ้นในแต่ละสภาวะตลาด หรือเรียกว่า Risk Parity  โดยหลักการก็คือ กระจาย สัดส่วนการลงทุนตามความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ๆ เท่าๆ กัน โดยแต่ละสินทรัพย์จะเป็นตัวแทนของแหล่งที่มาของผลตอบแทนที่ต่างกันในแต่ละสภาวะตลาด เช่น ความเสี่ยงจากหุ้น (Equity risk) ที่ลงทุนผ่านหุ้น ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (Nominal interest rate risk) ที่ลงทุนผ่านตราสารหนี้ และความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation risk) ที่ลงทุนผ่านสินค้าโภคภัณฑ์ 

          โดยความเสี่ยงที่ว่าจะเป็นค่าความเสี่ยงคาดการณ์ที่มาจากแบบจำลองครับ ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว การลงทุนในตราสารหนี้ช่วยสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจในช่วงเวลาที่ตลาดอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือเงินฝืด และการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น การลงทุนในหลายสินทรัพย์ที่มีช่วงเวลาดีแย่แตกต่างกันตามสภาวะตลาด พร้อมกับการคุมสัดส่วนความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ที่มีต่อพอร์ตการลงทุน จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนโดยรวมสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นและความเสี่ยงของพอร์ตไม่กระจุกตัวอยู่ในหุ้นมากเกินไปครับ

          อันที่จริงแนวทางการลงทุนที่เรียกว่า Risk Parity นี้ถูกคิดค้นขึ้นมานานแล้วครับ ตั้งแต่ประมาณ 20 ปีที่แล้ว บางทีก็จะมีชื่อเรียกว่ากลยุทธ์ All Weather asset allocation เพราะตั้งแต่กลยุทธ์การลงทุนนี้ถูกคิดค้นขึ้นมา ก็ดูจะประสบความสำเร็จสามารถสร้างผลตอบแทนผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้ในทุกสภาวะตลาด โดยในช่วงแรกกลยุทธ์การลงทุนแบบ Risk Parity จะเป็นที่นิยมสำหรับการบริหารเงินลงทุนให้กับนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ  เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือนักลงทุนส่วนบุคคลที่มีเงินลงทุนสูง แต่ด้วยในปัจจุบันสภาวะตลาดการลงทุนที่มีความผันผวนสูงในปัจจุบัน แนวทางการลงทุนแบบ Risk Parity จึงเริ่มถูกนำมาเป็นทางเลือกการลงทุนให้กับนักลงทุนทั่วไปมากขึ้นครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด