มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : จับตาดู CLMV จะตกขบวนรถไฟการพัฒนาหรือไม่

20 มิถุนายน 2561

         ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าคนไทยและรัฐบาลไทยตื่นตัวเรื่องการเชื่อมโยงกับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) เป็นอย่างมาก เพราะประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังมีประชากรวัยหนุ่มสาว วัยทำงานที่กำลังเติบโตส่งผลให้เศรษฐกิจของเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว คล้ายกับประเทศไทยช่วงปี 1980 - 1990 ที่ GDP เติบโตปีละ 7 - 10% นอกจากนี้ประเทศกลุ่ม CLMV ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงจากไทยไปถึงจีนตอนใต้ เป็นตลาดขนาดใหญ่มีกำลังซื้อ ธุรกิจของไทยหลายบริษัททั้งส่งออกสินค้าและบริการ ก็นำสินค้าและบริการของตนไปขายยังประเทศเหล่านี้ หลายแห่งถึงขั้นไปลงทุนตั้งโรงงานเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่ม CLMV ในอนาคต

         แต่หากเรามาย้อนดูการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียตั้งแต่ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ไทย และอินโดนีเซีย จะพบว่าในช่วงเริ่มต้นนั้นเราเดินตามสูตรสำเร็จเดียวกันมาตลอด กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยการเป็นแรงงานราคาถูกและเป็นแหล่งผลิตเพื่อส่งออก เมื่อแรงงานในญี่ปุ่นซึ่งพัฒนาไปก่อนคนอื่นเริ่มแพง โรงงานต่างก็ย้ายไปไต้หวัน เกาหลี พอค่าแรงในไต้หวันเกาหลีเริ่มแพง โรงงานต่างก็ทยอยย้ายฐานการผลิตไปยัง ไทย จีน อินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานคนค่อนข้างมาก อย่างเช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า ที่ต้องใช้มือคนตัดเย็บให้ได้รูปแบบตามที่ต้องการ ส่วนโรงงานที่ใช้เครื่องจักรทำได้เป็นส่วนมาก เช่น การผลิตแผงวงจรเซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังสามารถดำรงอยู่ในประเทศที่ค่าแรงสูงได้ เพราะกระบวนการผลิตแทบไม่ได้ใช้แรงงานมากนัก เมื่อการใช้แรงงานผลิตเพื่อการส่งออกในช่วงแรกผ่านไประยะหนึ่ง ประชาชนที่มีการเก็บหอมรอมริบเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองกำลังซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นจึงค่อยๆ ตามมา เช่น การผลิตมอเตอร์ไซค์ และการผลิตรถยนต์ตามลำดับ

         แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือ Robotic ก้าวหน้าไปรวดเร็วมาก กระบวนการผลิตหลายอย่างจากเดิมที่เคยต้องใช้มือคนทำเท่านั้น เช่น รองเท้า ซึ่งมีความโค้งเว้าเป็น 3 มิติ เครื่องจักรแบบเดิมๆ ทำไม่ได้ อย่างไรก็ต้องใช้มือคนทำ แต่ปัจจุบันนี้แขนกลหุ่นยนต์รุ่นใหม่ กับการออกแบบรองเท้าด้วยการทอ (knit) สามารถทำรองเท้าได้ทั้งคู่ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ต้องใช้มือคนมาช่วยอีกต่อไป แขนกลดังกล่าวนอกจากจะรวดเร็วกว่ามือคนแล้ว ยังสวยงาม ถักทอได้หลายแบบ หลายลวดลาย และไม่มีข้อบกพร่อง ตำหนิ หรือชิ้นงานที่เสียเพราะฝีมือคนทำไม่สม่ำเสมอ (human errors) เครื่องพิมพ์สามมิติ หรือ 3D printing ก็สามารถทำชิ้นงานที่ละเอียดอ่อนซึ่งแต่เดิมจำเป็นต้องใช้แรงงานมีฝีมือ (skilled labor) ในการผลิตเท่านั้น

 

 

         โรงงานในอนาคตก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปตั้งอยู่ในประเทศที่แรงงานราคาถูกอีกต่อไป ตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้ หรืออาจจะตั้งอยู่ใกล้ๆ ตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อ เพื่อประหยัดค่าขนส่ง ประหยัดภาษีนำเข้า เจ้าของโรงงานก็เพียงแต่ระดมทุนกู้เงินไปซื้อหุ่นยนต์แขนกลใช้ในการผลิตมาใช้แทน โรงงานจะอยู่ชานกรุงโตเกียว หรืออยู่แคลิฟอร์เนียก็ได้ ไม่ต้องไปตั้งที่กัมพูชา พม่า ลาว หรือเวียดนามอีกต่อไป โอกาสของประเทศกลุ่ม CLMV ก็ดูจะไม่โชคดีเท่าไทย จีน อินโดนีเซีย ที่เติบโตไปเป็นประเทศรายได้ปานกลางก่อนหน้านี้

         เส้นทางการพัฒนาของประเทศกลุ่ม CLMV คงจะมาตามสูตรสำเร็จด้วยการใช้แรงงานราคาถูกและเป็นแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกแบบก่อนหน้าไม่ได้แล้ว ครั้นจะหวังพึ่งการส่งออกพลังงานก๊าซธรรมชาติน้ำมัน เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็คงต้องสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ของตนให้ดีก่อน ไม่ใช่ทุกประเทศจะโชคดีมีบ่อน้ำมัน การลงทุนในประเทศเหล่านี้ก็เช่นกันนักลงทุนควรทำความเข้าใจทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่างๆ ให้ดีเสียก่อน ไม่ใช่ทุ่มกันสุดตัวไปกับตลาดเกิดใหม่เพียงเพราะเคยเห็นว่าไทยเคยก็ทำได้มาก่อนแล้วนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด