มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : IFF ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย (ตอนที่ 2)

4 มิถุนายน 2561

         บทความก่อนหน้านี้ ผมได้เกริ่นให้ทราบแล้วว่ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund หรือ IFF)  เป็นวิธีการระดมทุนทางเลือกใหม่เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  ซึ่งจะช่วยลดการก่อหนี้สาธารณะ  และเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไป ทั้งรายย่อยและสถาบันมีส่วนร่วมในการลงทุน โดยการซื้อหน่วยลงทุนของ IFF เพื่อนำเงินไปลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม อาทิเช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ระบบผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้า ระบบประปา พลังงาน ระบบขนส่งทางราง (รถไฟและรถไฟฟ้า) ทางพิเศษ ท่าอากาศยานหรือสนามบิน และท่าเรือ เป็นต้น

         เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมขอเน้นถึงประโยชน์ในเชิงลึกของ IFF ต่อจากบทความฉบับที่แล้วเลยนะครับ โดยเริ่มที่ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งในส่วนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ในกรณีที่มีการระดมทุนผ่าน IFF ในรูปแบบการให้สิทธิจัดหาผลประโยชน์หรือการแบ่งปันส่วนแบ่งรายได้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน จะไม่ถือว่าเป็นการก่อหนี้สาธารณะ และไม่เข้าข่ายตามบทบัญญัติ พ.ร.บ. การร่วมทุน จึงทำให้เพิ่มความคล่องตัวในการระดมทุนเพื่อพัฒนาประเทศได้ และลดภาระการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่ประเทศต้องการเร่งระดมทุนมาพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

         สำหรับประโยชน์ต่อผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปนั้น จะทำให้ (1) ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการบริโภคโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพดีขึ้น และ (2) ในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขายหน่วยลงทุน อีกทั้งยังได้รับประโยชน์ทางภาษีจากเงินปันผล ซึ่งผู้ลงทุนรายย่อยจะได้รับยกเว้นเป็นระยะเวลา 10 ปีต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน และที่กำไรจากส่วนต่างราคา ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาก็จะได้รับการยกเว้นภาษี และ (3) ผู้ลงทุนจะมีผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่เป็นทางเลือก 

         นอกจากนั้น IFF ยังมีประโยชน์ต่อภาคเอกชนอีกด้วย เช่น (1) ช่วยลดปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อน เนื่องจากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานบางประเภท สามารถนำออกให้ผู้ประกอบการรายอื่นเช่าใช้ร่วมกันได้ (Infrastructure Sharing) อาทิเช่น ในธุรกิจโทรคมนาคม เช่น เสาโทรคมนาคม ที่พบว่าในปัจจุบันผู้ประกอบการยังคงมีการลงทุนซ้ำซ้อนกันอยู่มาก สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ และไม่ก่อให้เกิดการประหยัดในเชิงเศรษฐกิจทั้งกับผู้ประกอบการและประเทศชาติ เสาโทรคมนาคมที่ต่างประเทศสามารถติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณได้หลายเครื่อง แต่ในประเทศไทยเราเห็นเสา 3 ต้นตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ละต้นติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณเพียงแค่ชุดเดียว และยังมีที่ว่างให้สามารถติดตั้งได้อีกหลายชุดหากมีการใช้รวมกัน  เมื่อมีการใช้หรือนำเข้าวัตถุดิบมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานซ้ำซ้อนในปริมาณมากจนเกินไป ก็จะเกิดผลกระทบด้านลบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ดังนั้น IFF จึงเอื้อให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพราะสามารถประหยัดเงินลงทุนจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แล้วนำเงินลงทุนมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพของเครือข่ายหรือบริการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน (2) การระดมทุนผ่าน IFF ยังจะช่วยให้บริษัทเอกชนสามารถระดมทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งเป็นช่องทางเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการกู้ยืมเงิน ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่บริษัทเอกชนในการจัดโครงสร้างทางการเงิน ลดสัดส่วนหนี้ต่อทุน (Debt-to-Equity Ratio) ให้เหมาะสมได้ และ (3) ในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องมีการโอนทรัพย์สินเข้า IFF จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ รวมถึงได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง ค่าจดทะเบียนการเช่า ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำรายการ (Transaction Cost) ลดลง หากเปรียบเทียบกับการโอนทรัพย์สินเข้าบริษัททั่วไป

 

 

         ถัดมาเรามาดูถึงอุปสรรคและความท้าทายในการจัดตั้ง IFF กันต่อนะครับ แม้ว่าประโยชน์ในการจัดตั้ง IFF  เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีหลายประการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วนั้น ถือว่ายังมีอุปสรรคและความท้าทายในการจัดตั้งและพัฒนาอยู่ในบางประเด็น  อาทิเช่น

ประเด็น กฎระเบียบและการกำกับดูแลที่ทับซ้อนไม่ชัดเจน ดังนี้

         (1) ในกรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกิจการโรงไฟฟ้า/พลังงานทางเลือก ยังคงมีข้อกำหนดที่สำคัญซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกิจการโรงไฟฟ้า/พลังงานทางเลือก อาทิเช่น ข้อจำกัดเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง IFF ไม่สามารถประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐานเองได้ ทำได้เพียงจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน โดยการให้เช่า ให้สิทธิ หรือให้ผู้อื่นดำเนินการเท่านั้น เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ IFF ไม่สามารถถือใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวเองได้ และตามลักษณะการดำเนินธุรกิจของกิจการโรงไฟฟ้า/พลังงานทางเลือก ทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานในกิจการดังกล่าวจะต้องอยู่กับบุคคลที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเท่านั้น กฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกันดังกล่าวส่งผลให้ IFF เกิดประเด็นด้านการบันทึกบัญชี คือ ความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk and Reward) ของธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถถ่ายโอนไปที่ IFF (ผู้ซื้อ) ได้ ทำให้ผู้ขาย (เจ้าของกิจการ) ไม่สามารถบันทึกรายการในลักษณะของการรับรู้กำไรจากการขายได้ (True Sale) ได้ตามมาตรฐานบัญชี แต่ต้องบันทึกเป็นภาระหนี้สิน เป็นการกู้ยืมระยะยาว หรือหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยแทน ส่งผลกระทบเชิงลบต่องบการเงินของเจ้าของกิจการ และอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เช่น อัตราส่วนหนี้ต่อทุน (Debt-to-Equity Ratio) ของผู้ขาย (เจ้าของกิจการ) กรณีนี้ถือเป็นอุปสรรคในการตัดสินใจนำทรัพย์สิน/สิทธิการเช่า/สิทธิในกระแสรายได้ มาระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

         (2) ในกรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกิจการโทรคมนาคม ซึ่งการจัดตั้งและการดำเนินงานของกองทุนรวมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างไรดี ยังคงมีความไม่ชัดเจนบางประการเกี่ยวกับการกำกับดูแลโดยหน่วยงานอื่น อาทิเช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งการดำเนินการของ IFF ในการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมโดยการให้เช่าทรัพย์สินของ IFF ยังมีความไม่ชัดเจนว่าถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ซึ่งกำกับดูแลโดย กสทช. หรือไม่ ทั้งนี้ หาก IFF ตกอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานและส่งผลกระทบต่อทั้งนักลงทุนและผู้บริโภค โดยการจัดหาผลประโยชน์โดยการให้เช่าทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานของ IFF ให้แก่ผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นการทั่วไป ไม่ควรถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. แต่อย่างใด หากกองทุนจำเป็นต้องขอใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียม ก็จะไม่สนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพย์สินโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing) ซึ่งช่วยลดภาระการลงทุนที่ซ้ำซ้อนและจะช่วยทำให้เกิดการประหยัดทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากนั้น หากมีการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากกอง IFF ผลกระทบดังกล่าวจะตกไปอยู่ที่ผู้บริโภคโดยตรงในการรับภาระค่าใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น และหาก IFF เป็นผู้มีภาระค่าธรรมเนียม ดังกล่าวจะย่อมส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของ IFF โดยตรงอีกด้วย โดยกรณีดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อการระดมทุนโดยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกิจการโทรคมนาคมต่อไป จึงสรุปได้ว่าการต้องขอใบอนุญาตและเสียค่าธรรมเนียมจะทำให้ผู้ลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่ต้องการเข้ามาลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทนี้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนชนิดดังกล่าวและการลงทุนอื่น ๆ ในตลาดทุนไทยในที่สุด

         นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ อาทิเช่น ตามกฎเกณฑ์ในปัจจุบัน IFF ยังไม่สามารถระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ได้ ซึ่งเป็นวิธีระดมทุนที่มีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำได้ โดย IFF สามารถระดมทุนได้จากการกู้ยืมสถาบันการเงินและการเพิ่มทุนเท่านั้น ซึ่งหาก IFF สามารถระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า ก็สามารถนำเงินที่ได้มาชำระหนี้สินเดิมที่มีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนก็จะได้รับเงินปันผลเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ นอกจากนี้ แม้ว่าปัจจุบันมีการยกเว้นภาษีเงินปันผลจาก IFF ให้แก่บุคคลธรรมดาเป็นระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน  ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา แต่หากมีการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมภายหลังจัดตั้งกองทุน จะทำให้การระดมทุนเพิ่มเติมโดย IFF มีความน่าสนใจลดน้อยลง หากเปรียบเทียบกับ IFF ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เนื่องจากสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินปันผลให้แก่บุคคลธรรมดาจะมีระยะเวลาที่ลดลงหลังจากวันจดทะเบียนกองทุน ดังนั้น การยกเว้นภาษีเงินปันผลให้แก่บุคคลธรรมดา ควรจะมีการยืดระยะเวลาออกไป หาก IFF มีการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมเช่นเดียวกันกับการให้ BOI เป็นต้น 

         จากการพิจารณาประโยชน์ของ IFF หากสามารถทำให้ข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่มีในปัจจุบันหมดไปหรือลดน้อยลงได้ ก็เชื่อได้ว่า IFF จะเป็นทางออกให้กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยได้อย่างดี พร้อมกับได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ  ที่น่าสนใจให้กับผู้ลงทุน และตลาดทุนไทยอีกด้วย

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด