คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : ความท้าทายและมุมมองตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่เหลือของปี 2020

8 กันยายน 2563

       ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างผันผวนและปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวอย่างรุนแรง รัฐบาลและธนาคารกลางในหลายประเทศเร่งออกมาตรการสนับสนุนต่างๆ และดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทั้งการลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย หลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทำให้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด (bottoming out) และนักลงทุนเริ่มกลับมาถือสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

       อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและความผันผวนในตลาดการเงินในช่วงที่เหลือของปี 2020 ได้แก่

       1. ความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศต่างๆ ทำให้ภาครัฐอาจต้องเลื่อนการเปิดเมืองหรืออาจต้องกลับไปใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้ง และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยความกังวลนี้จะทยอยคลี่คลายเมื่อมีการแจกจ่ายวัคซีนเป็นการทั่วไป

       2. ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงขนาดของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐยังคงมีความไม่แน่นอน จากข้อจำกัดในด้านต่างๆ อาทิ ความสามารถในการก่อหนี้ และงบประมาณคงเหลือ เป็นต้น

       3. ความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ จากเหตุการณ์ประท้วงภายในประเทศ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

       4. การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนซึ่งมีแนวโน้มจะไหลเข้าสู่กลุ่มประเทศเกิดใหม่และแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการปรับเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ

       

       ภายใต้ความท้าทายข้างต้นเรายังมีมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตลอดทั้งปี จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังการผ่อนคลายมาตรการ lockdown อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ธปท.อาจพิจารณาใช้มาตรการด้านสินเชื่อเพิ่มเติม โดยจะเน้นการให้ความช่วยเหลือที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (ล่าสุด ธปท.ได้ประกาศไม่ต่ออายุมาตรการการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป) อาทิเช่น การสนับสนุนให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบต่อรายได้อย่างมีนัยดำเนินการขอปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินโดยไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต การลดดอกเบี้ยหรือผ่อนผันภาระหนี้เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อประคับประคองฐานะทางการเงิน และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน นอกจากนี้ ธปท.ยังมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้เพิ่มเติม แม้จะ policy room ด้านดอกเบี้ยนโยบายที่จำกัด หากมีการระบายของ COVID-19 ระลอก 2 ที่รุนแรงกว่าคาด กดดันให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงและต่อเนื่อง

       ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ไทยประเมินว่า เส้นอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มที่จะมีความชันเพิ่มขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นที่อาจทรงตัวอยู่ในกรอบใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณพันธบัตรระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากแผนการกู้เงินเพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้รัฐบาลจะมีความพยายามในการกระจายแหล่งที่มาของเงินทุนเพื่อลดความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จากการระดมทุนผ่านพันธบัตรระยะยาวเพื่อสนับสนุนการขาดดุลทางการคลังที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีแนวโน้มลดลง เพื่อโยกเงินกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นแทน

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด