คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : ลงทุนต่างประเทศเอง vs ผ่านกองทุนรวม แบบใหนได้มากกว่า?

4 พฤษภาคม 2560

       ในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดกว้างเรื่องการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น บุคคลธรรมดาสามารถไปกรอกเอกสารขอนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้ไม่ยาก ซึ่งต่างจากแต่ก่อนที่จะอนุญาตเฉพาะการซื้อสินค้า ค่าเล่าเรียนบุตร หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ และต้องมีหลักฐานการจะซื้อขายประกอบชัดเจน  ธนาคารชื่อดังจากสวิสเซอร์แลนด์และสหรัฐฯ ที่ให้บริการด้านธนบดีธนกิจ (หรือแปลง่ายๆ ก็คือ บริการทางการเงินกับมหาเศรษฐีที่มีเงินลงทุนเป็นร้อยล้านขึ้นไป) ต่างก็เข้ามารุกธุรกิจให้บริการกับเศรษฐีในบ้านเราด้วยการชักชวนให้ไปลงทุนต่างประเทศโดยตรง

       เสน่ห์ของการไปลงทุนต่างประเทศตรงก็มีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย กองทุนที่มีให้เลือกเป็นร้อยเป็นพันกอง หุ้นของบริษัทดังๆ ระดับโลกที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์บ้านเรา การกู้โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อนำไปลงทุนเพิ่ม หรือผลิตภัณฑ์ประกันที่เบี้ยถูกกว่าเพราะสถิติการเสียชีวิตหรือประสบอุบัติเหตุของต่างประเทศนั้นต่ำกว่าของไทย หรือแม้กระทั่งการลงทุนใน ETF (exchange traded fund) ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ เพราะค่าบริหารกองทุน ETF นั้นถูกกว่า ค่าธรรมเนียมบริหารกองทุนรวมที่ใช้ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นหรือ active fund มาก

       พอเล่ามาถึงตรงนี้ นักลงทุนหลายท่านคงอยากจะไปลงทุนตรงต่างประเทศกันแล้วนะครับ แต่ทุกสิ่งเมื่อมีข้อดีก็มีข้อเสียเช่นกันโดยเฉพาะเรื่องของค่าธรรมเนียมที่ธนาคารในต่างประเทศเรียกเก็บนั้นสูงกว่าบ้านเรามาก และมีค่าธรรมเนียมหลายอย่างที่เมืองไทยยังไม่มี เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้เคาน์เตอร์ ค่าธรรมเนียมนับเงินสด ค่าธรรมเนียมรับฝากหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการให้คำปรึกษา ค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี ค่าธรรมเนียมสำหรับผู้มีที่อยู่ต่างประเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย

       นอกจากค่าธรรมเนียมส่วนที่เกี่ยวกับธนาคารดังกล่าว ในส่วนของการลงทุนในกองทุนรวมก็เช่นกัน หากเราไปลงทุนตรงที่ต่างประเทศด้วยตนเอง โดยสมมติว่าเราเลือกเป็นกองทุนเดียวกับที่บริษัทจัดการในประเทศไทยเลือกมาทำ feeder fund ข้อแตกต่างก็คือ เราจะถูกจัดให้เป็นลูกค้าบุคคลรายย่อย ซึ่งค่าธรรมเนียมซื้อและค่าธรรมเนียมรายปีจะสูงกว่าลูกค้าสถาบันที่ลงทุนมาก ค่าธรรมเนียมซื้อหรือ up front fee กองทุนสำหรับรายย่อยในฮ่องกง สิงคโปร์ อยู่ที่ประมาณ 3-4% ส่วนของสถาบันไม่ต้องเสีย ส่วนค่าธรรมเนียมการจัดการรายปีสำหรับรายย่อยก็อยู่ประมาณ 1.5-2% ในขณะที่สถาบันจะอยู่เพียง 0.4-0.5% เท่านั้น ถ้าเราบวกกับค่าธรรมเนียมที่บริษัทจัดการในประเทศไทยคิดเข้าไปด้วยแล้วการลงทุนผ่านกองทุน feeder fund ก็ยังถูกกว่ารายย่อยไปลงทุนเอง ไหนยังจะมีส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารคิดเวลาเราซื้อเงินสกุลต่างประเทศ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ธนาคารในต่างประเทศหัก ค่าธรรมเนียมเวลารับเงินปันผลเข้า ซึ่งกองทุนรวมนับเป็นสถาบันก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม หรือสามารถทำเรื่องขอคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า ทำให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจากการลงทุนผ่านกองทุนในประเทศนั้นสูงกว่าการไปลงทุนตรงด้วยตนเอง

       ฟังงดูแปลกแต่จริง ทำไมการไปลงทุนต่างประเทศตรงถึงมีประสิทธิภาพต่ำกว่า ได้ผลตอบแทนน้อยกว่า อธิบายง่ายๆ คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมในประเทศก็เหมือนพวกเรารวมตัวกันไปซื้อสินค้าในราคาขายส่ง เช่นเดียวกับการที่เราไปลงทุนตรงก็คล้ายกับการซื้อสินค้าราคาขายปลีกซึ่งแพงกว่า หรือคล้ายกับสาวๆ ที่ไปสั่งกระเป๋าพรีออเดอร์จากแม่ค้านักหิ้ว เพราะเราไปเองร้านค้าบางร้านก็จะไม่ขายให้ หรือไม่ได้สีหรือรุ่นที่ถูกใจ แม่ค้าเขาเป็นขาประจำซื้อบ่อยซื้อเยอะ ร้านค้าก็ให้ของก่อนหรือมีส่วนลดให้ การทำคืนภาษีจำนวนมากๆ ก็ได้คืนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่า

       นอกจากนั้นยังมีเรื่องการป้องความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอีก (อันนี้สำหรับกองทุนที่จดทะเบียนแบบป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนเท่านั้นนะครับ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเงินบาทแข็ง ผมยังจำได้มีอยู่ปีหนึ่งที่ดัชนีหุ้นของอินเดียสูงขึ้นสิบกว่าเปอร์เซนต์แต่ค่าเงินก็อ่อนลงสิบกว่าเปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับเงินบาท ขนาดเราเลือกลงทุนได้ถูก ผลตอบแทนหลังหักอัตราแลกเปลี่ยนแล้วแทบไม่เหลืออะไรเลย หากเราเป็นรายย่อยไปลงทุนในกองทุนดัชนีหุ้นอินเดียดังกล่าวโดยตรง เราก็ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ หรือบางธนาคารถ้าสามารถทำได้ก็ต้องมีการวางหลักทรัพย์หรือมาร์จิ้นค้ำประกันทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่ากับกองทุนรวมซึ่งเป็นสถาบันสามารถทำการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ถูกกว่า และหากเราไม่ได้มีความรู้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลให้อีก

       สำหรับทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายนั้นหากมีผู้แนะนำที่ฝีมือดีก็จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน แต่ในทางตรงกันข้ามเราก็ต้องเสียเวลาไปเรียนรู้กับผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน หรือเอาเข้าจริงก็ไม่มีเวลาไปศึกษาเปรียบเทียบทุกอย่างก็มักจะเชื่อผู้แนะนำ แต่กองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศนั้น กว่าบริษัทจัดการกองทุนจะเลือกมาได้สักกองทุน ต้องทำการบ้านอย่างมาก ผู้จัดการกองทุนที่มีดีกรีระดับ CFA ต้องเลือกเฟ้นจากกองทุนประเภทเดียวกันบางทีเป็นร้อยกองทุน คัดสรรตัวเยี่ยมๆ สัก 4-5 กอง แล้วมาศึกษาเชิงลึกถึงกลยุทธ์การลงทุน  ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง ความสม่ำเสมอของผลตอบแทน ประวัติของบริษัทจัดการและผู้จัดการกองทุน ขนาดกองทุน และสภาพคล่อง เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้แล้วก็นำมาเสนอคณะกรรมการการลงทุนที่มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายด้าน ทั้งด้านหุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ เพื่อเลือกกองทุนที่เราคิดว่าดีที่สุดหนึ่งกองมาทำเป็น feeder fund ในสินทรัพย์หรือกลยุทธ์การลงทุนประเภทนั้นๆ 

       ครับที่เล่ามานี้เป็นแค่ข้อสรุปแบบคร่าวๆ ของการทำงาน กว่าที่บริษัทจัดการกองทุนไทยจะไปเลือกกองทุนรวมจากต่างประเทศมาสักกองทุน เทียบกับเมื่อท่านที่อยากไปลงทุนตรงและต้องเลือกเฟ้นด้วยตนเอง คงพอเห็นแล้วนะครับว่ามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้าง การลงทุนกับสินทรัพย์ต่างประเทศนั้นเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงจากการที่เรามีสินทรัพย์อยู่ในประเทศของตนเองเป็นส่วนใหญ่ และช่วยทำให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอมากขึ้นในระยะยาว เพราะไม่พึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งจนเกินไป เวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ไม่เสียหายหนักเหมือนการลงทุนในสินทรัพย์ตัวเดียวประเภทเดียว ท้ายนี้ก็ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด