คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : ฉากทัศน์ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และแนวทางลงทุน

3 สิงหาคม 2565

         สถาณการณ์การลงทุนปัจจุบัน นักลงทุนต่างกังวลต่อโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถดถอยในสหรัฐฯ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มิ.ย. ของสหรัฐฯ ออกมาสูงสุดในรอบ 40 ปี ที่ระดับ 9.1% ยิ่งเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องหันมาเร่งดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุดนักลงทุนมองว่า Fed มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. นี้อย่างน้อย 0.75% นำไปสู่ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่สภาวะถดถอยภายใน 12 เดือนข้างหน้า ดังนั้นเราจึงขอยกกรณีศึกษาการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในอดีตมาเพื่อให้สามารถเตรียมรับมือกับความเสี่ยงในแต่ละฉากทัศน์ (scenarios) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

         จากข้อมูล NBER (The National Bureau of Economic Research) พบว่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง 1945 สหรัฐฯมีการเกิดเศรษฐกิจถดถอยรวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง กินระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 10 เดือนและ GDP หดตัวลงเฉลี่ย -4.4% แต่หากเจาะลึกในแต่ละครั้งที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย จะเห็นว่าแต่ละครั้งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์แตกต่างกันไป เราจึงแบ่งเป็น 3 ฉากทัศน์ ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยดังนี้

         

  1. Mild recession: กรณีเศรษฐกิจถดถอยที่ไม่ได้รุนแรงมากนัก อาจเทียบเคียงกับอดีตช่วงปี 1990-91 โดยครั้งนั้น GDP -1.4% ซึ่งถือว่าไม่รุนแรง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอีก 13 ครั้งในอดีต ในขณะที่เงินเฟ้อของรอบดังกล่าวไปทำจุดสูงสุดที่ 6.3% ก่อนปรับตัวลงมา ในช่วงเวลานี้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง -20% ก่อนค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นหลังเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไป ประเภทสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงเวลาดังกล่าวได้แก่ น้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากอุปสงค์มิได้หดตัวรุนแรงมากนัก ขณะที่ธุรกิจที่สามารถทนความอ่อนไหวได้ดีได้แก่ หุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่ม Defensive อย่าง Consumer staple, Health Care และ Utilities

  2. Stagflation: เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงกว่ากรณีแรกและเงินเฟ้อทรงตัวระดับสูงยาวนานสามารถเทียบเคียงกับอดีตช่วงปี 1973-82 ที่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องยาวนาน โดยช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีได้เกิดเศรษฐกิจถดถอยมากถึง 3 ครั้ง และ GDP หดตัวเฉลี่ยประมาณ 2-3% ขณะที่เงินเฟ้อไปทำจุดสูงสุดถึง 14.8% ก่อนที่จะปรับตัวลง ช่วงเวลาดังกล่าวดัชนี S&P500 มีความผันผวนสูงมาก โดยปรับตัวลงมากที่สุดประมาณ -48% ในช่วงปี 1973-74 ประเภทสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงเวลาเดียวกันได้แก่ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และทองคำ ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลไม่สามารถใช้กระจายความเสี่ยงพอร์ตได้ดีเท่าไหร่

  3. Great recession: เป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงซึ่งมาจากวิกฤติการเงินลุกลามไปกระทบต่อเศรษฐกิจจริงในวงกว้างสามารถเทียบเคียงกับอดีตช่วงปี 2008-09 ที่ GDP หดตัวแรงถึง 5.1% ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงลึกกว่า 57% และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงน้ำมันหดตัวลงรุนแรง (น้ำมันดิบ -43% และ Bloomberg Commodities index -40%) แต่ทอง และพันธบัตรรัฐบาลสามารถปรับตัวบวกได้ ส่วนรายอุตสาหกรรม กลุ่ม Consumer staple และ Health Care สามารถทนทานกว่าตลาดในช่วงเวลาดังกล่าวได้

         ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนไม่ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกรณีไหนก็ตาม เราแนะนำให้ระมัดระวังต่อการลงทุนมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง อย่างตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อรอโอกาสกลับเข้าไปทยอยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง เมื่อเราเห็นสัญญาณบวก เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (SCBSFFPLUS) ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือกองทุนหุ้น แนะนำลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทนทานไม่อิงตามวัฏจักรเศรษฐกิจมาก เช่นอุตสาหกรรม Health Care ที่ในอดีตจะมีกำไรเติบโตสม่ำเสมอได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจำกัด อย่างเช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์ (SCBGHC) ซึ่งมีนโยบายลงทุนใน Janus Global Life Sciences Fund (กองทุนหลัก) บริหารโดย Janus Capital Management LLC เป็นต้น

         ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร.02-777-7777 กด 0 กด 6 และผู้สนับสนุนการขายทุกราย

         ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้ยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด