CIO’s Talk ตอน “จับตาตลาดน่าลงทุนในยุคผันผวน”

11 เมษายน 2561

สวัสดีท่านนักลงทุนทุกท่าน พบกันอีกครั้งนะครับ ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญเกิดขึ้นหลายสิ่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือเฟด รวมไปถึงมาตรการในการกีดกันทางการค้าหรือการขึ้นภาษีสินค้าบางชนิด เช่น เหล็ก และอลูมิเนียม จากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลของการเกิดสงครามการค้าหรือการกีดกันทางการค้าที่อาจลุกลาม หากมองไปถึงภาพรวมความเคลื่อนไหวของตลาดในระยะ 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าตลาดในประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือสหรัฐฯ เริ่มจะมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงหุ้นขนาดเล็กในประเทศสหรัฐฯ และในสหภาพยุโรป

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนชอบการลงทุนในบริษัทที่มี exposure เกี่ยวกับการค้าขายภายในประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยลงจากการกีดกันทางการค้าและหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะถ้าหากมองสะท้อนไปถึงดัชนี Nasdaq ก็จะมีผลการดำเนินงานได้ใกล้เคียงกับดัชนีในประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยจะบวกเล็กน้อยที่ประมาณ 3 - 5% ส่วนประเทศที่ถูกลืมหรือถูกกดดันมานานอย่างเช่น รัสเซีย และบราซิล กลับกลายเป็นตลาดที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด 2 อันดับแรกใกล้เคียงในระดับ 8 - 10%

เมื่อประมวลข้อมูลและสภาพตลาดเหล่านี้จะเห็นได้ว่าแนวโน้มตลาดในประเทศเกิดใหม่หรือ Emerging Markets จะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยที่ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาหรือ  Emerging markets ได้มีการปรับตัวและมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในเรื่องของหนี้สาธารณะ หนี้ต่างประเทศ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับที่สูง ทำให้แนวโน้มของค่าเงินสกุลในประเทศเกิดใหม่ที่มีความมั่งคั่งและมีเงินส่วนเกิน (surplus) ในแง่ของกระแสเงินทุนไหลเข้าจึงเป็นที่ที่ดูจะปลอดภัยและมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็รวมอยู่ในนั้น

ผมคิดว่าแนวโน้มของการเติบโตเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นไปได้ในเบื้องต้น โดยผลกระทบของการกีดกันทางการค้าน่าจะมีผลกระทบประมาณ 0.5-1% ของการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มหากมีการเจรจากันได้ก็จะมีผลกระทบน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ โดยรายได้ (earnings) ก็จะยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญโดยเฉพาะในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปเอง ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนว่าตลาดถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกและทำให้ผลตอบแทนในระยะสั้นนั้นปรับตัวลดลง อย่างที่เราเห็นกันได้ชัดเจนว่าตลาดในอังกฤษติดลบประมาณ 10% ตลาดญี่ปุ่นโดยรวมติดลบ 6 - 8% และในประเทศอื่นอย่างเช่น ออสเตรเลีย หรืออินเดียก็มีผลตอบแทนติดลบเช่นกัน หากนับตั้งแต่ต้นปีนี้ก็ติดลบอยู่ที่ประมาณ 5% สำหรับดัชนีหุ้นโลกหรือ MSCI World ก็ติดลบอยู่ที่ประมาณ 3% จากสาเหตุที่ดัชนีในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาด S&P ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดก็ได้ปรับตัวลดลงประมาณ 2% เมื่อดูผลตอบแทนจากต้นปีมาจนถึงในปัจจุบัน

ผมเชื่อว่าตลาดเข้าสู่ในช่วงของความผันผวนด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งในเชิงของมหภาค หรืองบดุล (Balance sheet)  ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยนักลงทุนทั่วไปหากลงทุนในกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย จีน เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งหุ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ดูเหมือนจะมีความได้เปรียบในเรื่องของการได้รับผลกระทบที่น้อยลงจากการเกิดเหตุการณ์การปกป้องทางการค้า (Protectionism) หรือสงครามการค้าในครั้งนี้ การปรับน้ำหนักการลงทุนในกลุ่ม Emerging Markets จึงดูจะมีความสมเหตุสมผล เพราะถ้านักลงทุนลงทุนในหุ้นไทยหรือหุ้นในประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคเอเชีย หรือแม้กระทั่งในละตินอเมริกาก็ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น และอาจจะได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าหรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย น้อยกว่าผลกระทบในตลาดพัฒนาแล้วโดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ตลาดยุโรป หรือแม้กระทั่งตลาดญี่ปุ่นก็ตาม

เราควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาและอาจจะพิจารณาลดน้ำหนักการลงทุนในสหรัฐฯ ลงบางส่วนเพื่อรอดูผลกระทบในเรื่องของนโยบายที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามภาพรวมในระยะยาวผมยังคงมองว่าเศรษฐกิจโลกยังมีการเติบโตที่รวดเร็ว และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำจะยังคงมีอยู่และยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ทั้งนี้ก็คงต้องคอยติดตามผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นความเสี่ยงใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา

โดยรวมแล้ว ผมมองว่าจากสภาวะปัจจุบันหุ้นยังน่าสนใจมากกว่าพันธบัตร และการเพิ่มน้ำหนักใน Emerging Markets และตลาดไทยก็น่าจะยังเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผล

Stay invested นะครับ และพบกันใหม่เดือนหน้า สวัสดีครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด