CIO’s Talk ตอน “ความกังวล และความเสี่ยงต่อตลาดการลงทุน”

11 กุมภาพันธ์ 2562

          สวัสดีค่ะท่านผู้ถือหน่วย ขณะนี้เราก็ได้ก้าวผ่านปี 2019 มาหนึ่งเดือนแล้วนะคะ ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างก็ปรับตัวนับได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าความกังวลของตลาดที่ยังคงอยู่กับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะ government shutdown ในสหรัฐฯ เรื่องสงครามการค้าและการเจรจาอย่างเข้มข้นของสหรัฐฯ กับจีน กระบวนการการแยกตัวของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ตลอดจนภาวะการเมืองและการคลังในอิตาลี และล่าสุดก็คงเป็นพัฒนาการจากจีนที่แม้ทางการจะออกมาประกาศเพิ่มสภาพคล่องในตลาดอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีข่าวที่น่ากังวลเช่นการปรับตัวลงพร้อมๆ กันของดัชนีเงินเฟ้อผู้ผลิตหรือ Producer Price Index (PPI) และดัชนีชี้วัดการหดตัว/การขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่น Purchasing Manager Index (PMI) ก็เรียกได้ว่ายังคงต้องจับตาดูภาพโดยรวมกันต่อไปอีกสักระยะนะคะ โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนนี้แล้ว

          ในฝั่งของสหรัฐฯ ก็มีท่าทีของทรัมป์ที่ยอมอ่อนข้อลงจากสภาวะสุญญากาศของร่างงบประมาณกับสภาคองเกรส ก็ได้ทำให้ประเด็นของ Government Shutdown คลี่คลายลงไปได้ในระยะสั้น หลังจากที่นางแนนซี เปโลซี่ ผู้นำพรรคเดโมแครตซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าพรรคเดโมแครตจะเริ่มเจรจาในแผนการสร้างกำแพงเมืองชายแดนเม็กซิโกอีกครั้งก็ต่อเมื่อทรัมป์ยอมลงนามให้รัฐบาลกลับมาเปิดอีกครั้งก่อนเท่านั้น โดยผลสำรวจก็ดูเหมือนว่าประชาชนสหรัฐฯ จะมองว่าเป็นความดื้อของทรัมป์มากกว่าที่จะไปกล่าวโทษสภาคองเกรส อย่างไรก็ตามเราคงต้องกลับมาดูช่วงกลางเดือนนี้อีกครั้งเมื่อครบกำหนดสิ้นสุดการเปิดรัฐบาลชั่วคราวลง ว่าท่าทีของประธานาธิบดีกับสภาคองเกรสจะออกมาในรูปแบบใด

          ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองเมื่อมองมาที่อีกฝั่งของมหาสมุทรแอทแลนติก เราก็จะพบว่านางเทเรซา เมย์ ก็กำลังประสบปัญหาด้านความขัดแย้งกับสภาเช่นกัน โดยล่าสุดก็ได้มีพัฒนาการที่สำคัญจากรัฐสภาอังกฤษทำการลงมติร่างแก้ไขข้อตกลง Brexit ที่เสนอมาจากสมาชิกรัฐสภา ให้มีมติรับร่างแก้ไข 2 ฉบับ จาก 7 ฉบับ โดยร่างแก้ไข 2 ฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาที่สำคัญคือ คัดค้าน No-deal Brexit และเรียกร้องให้มีการเสนอทางเลือกเพิ่มเติมในแผน Backstop ประเด็นชายแดนไอร์แลนด์ โดยคาดว่าช่วงกลางเดือนนี้นางเทเรซ่า เมย์ ก็จะนำข้อเสนอนี้มาปรับกับแผนของตนแล้วนำกลับไปคุยกับฝั่งของ EU นำโดยนายโดนัล “ทัสก์” ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพอีกครั้ง ซึ่งถ้าตกลงกันได้ นางเทเรซ่า เมย์ ก็ยังจะต้องนำร่างดังกล่าวกลับมาคุยกันรอบสุดท้ายในรัฐสภาอังกฤษอีกครั้ง

          ขณะเดียวกัน ความกังวลทั้งในเรื่องของการเมืองและการคลังในอิตาลีนั้นก็จะยังคงเป็น overhang fact ที่นักลงทุนจะยังคงต้องยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันไปอีกสักพัก โดยดัชนีหนึ่งที่พอจะสะท้อนความเสี่ยงเฉพาะตัวของอิตาลีได้ก็คือ ค่า Credit Default Swap ของพันธบัตรอิตาลีที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีตนั่นเอง

          ส่วนในฝั่งของเอเชียเอง สิ่งที่ดิฉันคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและอยากนำมาแชร์ก็คือการไหลเข้าของเม็ดเงินสู่ตลาดเกิดใหม่ในช่วง 3 เดือนเฉลี่ยมานี้นับได้ว่าอยู่ได้ระดับสูง โดยสภาวะดังกล่าวอาจดูขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าความกังวลของตลาดและความเสี่ยงในตลาดโลกจะยังอยู่ในระดับสูง แต่นักลงทุนก็เริ่มเรียนรู้ที่จะยอมรับถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและมุ่งหน้าลงทุนโดยดูที่มิติอื่นเพิ่มเติมเช่นในแง่ของ valuation เป็นต้น เราได้เห็นการไหลเข้าของเงินทุนเข้าสู่ตลาดสำคัญๆ เช่น จีน เม็กซิโก อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และบราซิล เป็นต้นซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากความกังวลนักลงทุนมาโดยตลาดในปีที่แล้วจนกลับมามีระดับมูลค่าหรือ valuation ที่น่าสนใจอีกครั้ง 

          แม้ว่าตลาดเกิดใหม่ดูเหมือนจะกลับมาอีกครั้งได้ แต่กลยุทธ์การเลือกลงทุนในเฉพาะประเทศที่มีปัจจัยเฉพาะตัวที่แข็งแกร่งเท่านั้นก็ดูเหมือนจะยังคงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมในช่วงนี้ สาเหตุก็คือยังคงมีตลาดสำคัญในบางตลาดเช่น แอฟริกาใต้ และอินเดีย ที่คลื่นกระแสเม็ดเงินลงทุนเข้าตลาดเกิดใหม่ในรอบปัจจุบันนี้ไม่ได้ไหลเข้าไปเลย แต่ในทางตรงกันข้ามเราได้เห็นกระแสเม็ดเงินไหลออกจากกลุ่มประเทศดังกล่าวนี้ด้วยซ้ำ

          ท่านนักลงทุนทุกท่านคะ ดิฉันคิดว่าการลงทุนในปีนี้แม้จะไม่ง่ายนักแต่ก็ดูเหมือนว่าหากเรามีวินัยในการลงทุนที่ดีและมีกลยุทธ์ในคัดสรรค์เฉพาะตราสารที่มีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นในระดับของ Asset Class ระดับประเทศ ระดับอุตสหกรรม หรือแม้กระทั่งในระดับบริษัทได้ ก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าภาพรวมในการลงทุนของทุกท่านในปีนี้จะมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าความกังวลและความเสี่ยงต่างๆ ของตลาดโลกในปีนี้จะยังคงอยู่กับเราไปอีกสักระยะ เอาใจช่วยค่ะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน สายการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด