CIO’s Talk ตอน “ส่งท้ายปีกับสภาวะการลงทุน”

6 พฤศจิกายน 2561

          สวัสดีครับท่านผู้ถือหน่วย เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วจนเข้าไตรมาสสุดท้ายของปี ความสับสนวุ่นวายในการลงทุนโดยเฉพาะจากในประเทศผู้นำอย่างสหรัฐอเมริกาและประเด็นปัญหาเรื่องการตอบโต้ทางการค้าก็เริ่มที่จะเป็นประเด็นที่ใหญ่มากยิ่งขึ้น  แต่ดูเหมือนตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงดำเนินไปในลักษณะเดิมอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยดัชนี Nasdaq และดัชนี S&P500 มีผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ในระดับ 11-16% ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในบรรดาตลาดหุ้นทั่วโลกในปีนี้

          และแน่นอนที่สุด ความผันผวนและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในตลาดประเทศเกิดใหม่หรือตลาดที่เรียกว่า Emerging Markets โดยเฉพาะในแถบละตินอเมริกา และเอเชียบางประเทศ เช่น ตุรกี ตลอดจนถึงตลาดอย่างแอฟริกา บราซิล หรือแม้กระทั่งเมืองจีน ก็ได้ทำให้ตลาดต่างติดลบอยู่ในระดับที่สูงถึง 11-24% หากไม่นับรวมถึงตลาดตุรกีซึ่งติดลบไปถึง 51% เนื่องจากปัจจัยภายในของประเทศตนเอง โดยรวมแล้วภาพของตลาดเกิดใหม่สะท้อนโดย MSCI Emerging Markets นั้นก็ติดลบอยู่ที่ระดับประมาณใกล้เคียง 10%

          ส่วนการลงทุนชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะตราสารหนี้นั้นก็จะเห็นได้ว่าตราสารหนี้มีผลตอบแทนที่ค่อนข้างคงที่ (flat) จนถึงติดลบเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นตลาดเกิดใหม่หรือในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ก็เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) นั้นยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับขึ้นครั้งล่าสุดในรอบการประชุม FED ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้พันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ นั้นมีการซื้อขายอยู่ที่เหนือระดับ 3% ไปเป็นที่เรียบร้อย และทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรทั่วโลก หรือแม้กระทั่งตลาดหุ้นกู้ที่มีลักษณะ high yield ก็ยังมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างคงที่ โดยสืบเนื่องมาจากผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED นั่นเอง

          เราจะทำอย่างไรกันต่อไปดีสำหรับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นนี้? ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงว่าเมื่อมองข้ามไปในปี 2019 นั้นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนดูเหมือนจะยังขาดความต่อเนื่อง โดยแต่ละฝ่ายก็ยังพร้อมที่จะตอบโต้ด้วยมาตรการกำแพงภาษีเข้าไปสู่ Phase 2 และ Phase 3 ซึ่งก็จะทำให้มีผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนแม้กระทั่งในตลาดสหรัฐฯ เอง หากกำแพงภาษีนั้นมีการปรับเพิ่มขึ้นไปถึงในระดับ 20% ของภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน  ผลประกอบการของบริษัทหลักๆ ในตลาดอาจโตช้าลงได้ในระดับ 0-5% ในปี 2019 ซึ่งก็แน่นอนที่สุดว่าจะย่อมสร้างความกังวลว่าตลาดสหรัฐฯ นั้นซึ่งได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หากว่าผลประกอบการมีการชะลอตัว ความน่าเป็นห่วงเรื่องของการ trade การซื้อขายบนมูลค่า (valuation) ที่แพงในขณะที่มีรายได้ที่ลดลงก็อาจทำให้ตลาดปรับตัวเข้าสู่ช่วงปรับฐาน (Correction) ได้ในปี 2019 สำหรับตลาดหลัก เช่น ตลาดสหรัฐฯ

          ดังนั้นผมคิดว่าถึงเวลาที่ value หรือความน่าลงทุนของตลาดเกิดใหม่ที่มีการปรับลดระดับราคาลงมา รวมถึงตลาดหุ้นไทยหรือพัฒนาแล้วบางตลาดที่มิได้มีการปรับตัวขึ้นมาเลย เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น จึงดูมีความน่าสนใจคุ้มค่าความเสี่ยงและมี downside ที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับในตลาดที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างเช่นในสหรัฐหรือสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่น น้ำมันดิบ เป็นต้น

          ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้ก็ดูจะมีความน่าสนใจในการลงทุนเช่นกัน สำหรับผมแล้ว ผมชอบกองทุนประเภท active ที่ลงทุนทั้งในหุ้นขนาดใหญ่ และหุ้นขนาดเล็ก รวมถึงหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ และพันธบัตรระยะยาว เพราะผมเชื่อว่าอีกไม่นานกระแสของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงต้องแผ่เข้ามาในตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้น่าจะรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ในยามที่ความผันผวนในตลาดโลกกำลังจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากมาตรการกีดกันทางการค้าและอาจทำไปสู่การอ่อนค่าลงของเงินหยวน เพื่อชดเชยและตอบโต้การเพิ่มกำแพงภาษีของสหรัฐ อันจะส่งผลกระทบไปในค่าเงินสกุลหลักต่างๆ ในเอเชีย ก็มีความเป็นไปได้สูง

          แต่โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าเราควรจะลงทุนเพิ่มในหุ้นไทยโดยเลือกเฟ้นหาบริษัทที่มีความมั่นคงและมี valuation ที่ไม่แพงกว่าตลาด ซื้อของถูก มองหา margin of safety ของตัวเองคือกลยุทธ์หลักในช่วงนี้ Stay invested นะครับ พบกันใหม่คราวหน้าครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด