CIO’s Talk ตอน “สัญญาณความสดใสในการลงทุนปี 2019”

19 พฤศจิกายน 2561

          วันเวลาผ่านไปไวเหลือเกินนะคะ ตอนนี้เราก็เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายของปีกันแล้ว ลมหนาวจากประเทศจีนก็เริ่มที่จะแผ่ลงมาที่กรุงเทพฯ ดิฉันเองก็รู้สึกได้รับความเย็นจากลมหนาวบ้างแล้ว แต่ทว่าอุณหภูมิในการลงทุนทั่วโลกนั้น ต้องบอกว่ายังมีความร้อนแรงและมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้นอาจจัดได้ว่าตลาดหุ้นโดยรวม ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นในสหรัฐฯ เองก็ได้มีการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วโดยเฉลี่ย 5% - 10% จะยกเว้นแต่ก็มีเพียงดัชนี Nasdaq ซึ่งก็เป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่ยังสามารถยืนผลตอบแทนเป็นบวกที่ประมาณ 5%  ในขณะที่ตลาดหุ้นหลักอย่างเช่น S&P500 ก็มีผลตอบแทน flat หรือมีผลตอบแทนประมาณ 1% เท่านั้น

          นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่อยู่ในตลาด Emerging Markets หรือตลาดเกิดใหม่ หุ้นในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงหุ้นเอเชียและในละตินอเมริกาก็ต่างปรับลดลงอีก โดยสะท้อนให้เห็นถึงดัชนี MSCI Emerging Markets ก็ยังปรับลดลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันสูงถึงประมาณ 18%

          ความผันผวนที่ว่าคงหนีไม่พ้นมาจากหลายๆ ปัจจัย เรื่องที่หนึ่งก็คงเป็นเรื่องของสงครามทางการค้า ที่มีการตอบโต้กันอย่างเข้มข้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะสร้างความผันผวนและสร้างปรากฏการณ์ความกังวลว่าปัจจัยในเรื่องของการกีดกันเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอย่างไร ดูเหมือนว่าประเทศจีนจะได้รับผลกระทบก่อนเนื่องจากเป็นประเทศฝ่ายผู้ผลิตสินค้าและบริการสู่ตลาดโลกรวมถึงสหรัฐฯ ทำให้หุ้นและเศรษฐกิจจีนนั้นเริ่มมีการส่งสัญญาณชะลอตัวลงโดยเฉพาะในภาคการผลิต และหุ้นดัชนี MSCI China เองก็ปรับลดลงมา 21%-22% เมื่อเทียบกับตอนต้นปี

          โดยรวมตลาดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นั้น ได้ถูกขายและมีปัจจัยมูลค่าพื้นฐานที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าสนใจ แต่ความผันผวนจาก sentiment และความไม่แน่นอนในเรื่องเหล่านี้ทำให้ความผันผวนนั้นเพิ่มขึ้นและมีการแยกสินทรัพย์สหรัฐฯออกจากภูมิภาคอื่นของโลก (Rest of the World)

          ปัจจัยในการพิจารณาที่สำคัญ คงเป็นคำถามว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร จึงทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นจะเข้าสู่ช่วงของการเติบโตในระยะสุดท้ายหรือที่เรียกว่า late-cycle growth เมื่อเราเข้าสู่ช่วงปี 2019 ซึ่งก็หมายความว่าจะได้พบกับการชะลอตัวลงของผลกำไรของหุ้นในตลาดในประเทศสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนมากนัก หุ้นหลักๆ เช่น Facebook ประกาศผลกำไรออกมาในไตรมาสที่ 3 มีผลประกอบการดีกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลให้หุ้นในตลาดสหรัฐนั้นมีการ rebound ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมต่อเนื่องมาจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน โดยสามารถที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ถึง 5%-7% เลยทีเดียว

          สิ่งเหล่านี้จะเกิดผลกระทบอย่างไรหากเรามองภาพไปข้างหน้า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดความร้อนแรงลงในปี 2019 จริง ก็เชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นได้อีกหนึ่งครั้งในปลายปี 2018 นี้และอีกหนึ่งครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 และทำให้โอกาสที่จะขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงกลางปี 2019 นั้นมีความเป็นไปได้น้อยลงเรื่อยๆ หากว่าเศรษฐกิจมีการชะลอตัว

          แต่หากไม่มีการส่งสัญญาณในการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า ดิฉันก็เชื่อเหลือเกินว่าความแตกต่างของทิศทางของตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และภูมิภาคอื่นของโลก (Rest of the World) น่าจะแคบลง ส่งผลให้มีโอกาสสูงขึ้นที่หุ้นในตลาดประเทศเกิดใหม่นั้นจะสามารถฟื้นตัวและรีบาวน์เข้าสู่มูลค่าที่แท้จริงและเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานในปี 2019 ได้

          ดังนั้นเราจึงควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ยังคงมีมูลค่าราคาถูก เพื่อรอจังหวะในการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 เช่นกัน โดยปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่จะทำให้ตลาดฟื้นตัวนั้นอาจจะมาจากการที่เฟดส่งสัญญาณที่จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะดูผลกระทบหรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั่นเอง

          เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากค่ะ แต่ดิฉันคิดว่าเราจะผ่านมันไปด้วยกันได้ ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูงและมีราคาที่ไม่แพง สำหรับดิฉัน ก็ยังคงชอบหุ้นในตลาดเอเชียและหุ้นไทยใน valuation ระดับปัจจุบัน ถือการลงทุนต่อไปค่ะ สถานการณ์น่าจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2019

          เป็นกำลังใจให้ค่ะ แล้วเจอกันใหม่เดือนหน้า สวัสดีค่ะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน สายการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด