CIO’s Talk ตอน “สินทรัพย์น่าสนใจในช่วงตลาดผันผวน”

16 มีนาคม 2561

สวัสดีครับท่านผู้ถือหน่วยทุกท่าน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คงเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนได้เผชิญกับสภาพตลาดที่ผันผวน ในตลาดหลักๆ โดยตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักที่นำตลาดโลกในการปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลในเรื่องของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เอง และความกังวลในเรื่อง valuation ของหุ้นในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้นักลงทุน take profit หรือขายทำกำไร ทำให้ตลาดเพิ่มความผันผวนมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีในกลุ่มของตลาด NASDAQ รวมถึงหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นในย่านเอเชีย รวมไปถึงละตินอเมริกานั้น กลับสามารถยืนหยัดมีผลตอบแทนโดยรวมเป็นบวกได้เล็กน้อย ในขณะที่ตลาดหลักในประเทศพัฒนาแล้วนั้นเริ่มมีผลตอบแทนติดลบเล็กน้อย โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐฯ มีการปรับตัวลดลง 1-2% หลังจากที่ปรับตัวขึ้นไปได้ 3-4% ในช่วงเดือนมกราคม

คำถามที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ตลาดได้มีการเปลี่ยนทิศทางแล้วหรือยัง นักลงทุนควรจะทำอย่างไรในสภาวะตลาดเช่นนี้ ในความเห็นของผมนั้น ภาพระยะยาวยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่าวงจรเศรษฐกิจขาขึ้นและอัตราการเติบโตของผลกำไรในตลาดหลักๆ ของบริษัทที่จดทะเบียนนั้น ยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ต่อเนื่อง การปรับตัวในระยะสั้นจึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้ซื้อหุ้นในราคาที่ถูกลง และรอโอกาสที่จะสะสมหุ้นราคาถูกไว้เพิ่มขึ้นเพื่อการลงทุน แม้ว่าตลาดเอเชียอย่างเราจะมีผลกระทบน้อยกว่า แต่เชื่อได้ว่าเมื่อตลาดคลายความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้น ตลาดหุ้นจะยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ เราจึงยังคงให้น้ำหนักใกล้เคียงกันระหว่างตลาดหุ้นพัฒนาแล้วและตลาดหุ้นเกิดใหม่ หรือตลาดในภูมิภาคของเราโดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการลงทุนที่น่าสนใจในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่มีโอกาสฟื้นตัวหรือปรับตัวได้ค่อนข้างดีคงหนีไม่พ้น กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน กลุ่มพลังงาน กลุ่มที่ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค รวมไปถึงกลุ่มโรงพยาบาลหรือรักษาพยาบาล กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และรวมถึงหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าตลาด ยังคงเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจ ที่นักลงทุนควรจะจับตามองและใช้โอกาสในยามที่ตลาดปรับตัวลดลงเพื่อสะสมหุ้นเหล่านี้

ถ้าถามว่าความกังวลของอัตราดอกเบี้ยมีผลกระทบอย่างไรอีกบ้างหรือไม่ต่อสินทรัพย์อื่น คำตอบคือ แนวโน้มที่พันธบัตรระยะยาวในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ 3% สำหรับ 10-Year Treasury Bond หรือพันธบัตรอายุ 10 ปีของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งคงเป็นเป้าหมายแรกที่มีการปรับตัวของตลาด bond ตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของ Federal reserve ดังนั้นตราสารหนี้จึงเป็นแหล่งกำเนิดของความผันผวนที่สะท้อนต่อไปยังตลาดหุ้น

และสำหรับในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นยังคงมีแนวโน้มที่ต่อเนื่องจากปลายปี 2017 ซึ่งก็คือ เงินสกุลหลักๆ ในเอเชีย รวมถึงเงินบาท ยังคงจะมีแนวโน้มที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การอ่อนค่าเงินของดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินสกุลอื่นไปทั่ว เช่น เงินเยน เงินยูโร หรือแม้กระทั่งเงินบาท แต่ผมเชื่อว่า trend นี้จะดำเนินต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

สุดท้ายนี้ขอย้ำอีกครั้งว่าการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้น น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการสะสมหุ้น สะสมสินทรัพย์ที่มีอัตราการเติบโตที่สูง สามารถที่จะให้ดอกผล และผลตอบแทนในช่วงเวลาหกถึงสิบสองเดือนข้างหน้าได้ เราเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักๆ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดสหรัฐฯ จะมีผลการดำเนินงานออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดหมาย นี่คือสาเหตุว่า earning recovery หรือ earning acceleration จะเป็นหัวใจที่จะทำให้ตลาดหุ้นนั้นคลายความกังวลจากเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ลดลง และเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 และ 4 ด้วย earnings ที่ออกมาดี ผมจึงยังเชื่อว่าตลาดหุ้นจะกลับมาสดใสอีกครั้งหนึ่ง

ลงทุนด้วยความมั่นใจนะครับ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าครับ
ขอบคุณครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด