CIO’s Talk ตอน “แนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปีหลัง 2560”

4 สิงหาคม 2560

สวัสดีครับ ในช่วงระยะเวลานี้ช่างเป็นเวลาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่อยู่ในภาวะการลงทุนค่อนข้างสดใส อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปรับสูงขึ้นสู่ระดับ 3.6% ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 3 ปี จากที่เคยโตอยู่ในระดับประมาณ 3.0 - 3.2% เท่านั้น ราคาสินทรัพย์โดยเฉพาะตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ รวมถึงยุโรป และญี่ปุ่น ต่างก็ปรับตัวขึ้นโดยทั่วกัน ตั้งแต่ระดับ 20% สำหรับตลาดหุ้นเกิดใหม่ จนกระทั่งตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ที่ระดับ 12% แม้กระทั่งตลาดญี่ปุ่นที่ก็ปรับขึ้นใกล้เคียงระดับ 10% ในช่วงเวลาเพียง 6-7 เดือนที่ผ่านมา

ด้านสินทรัพย์อื่นๆ ก็รักษามูลค่าได้ดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทองคำหรือแม้กระทั่งพันธบัตร ซึ่งในขณะนี้แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่าแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อซึ่งมีผลเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจการขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกก็ยังอยู่ในระดับต่ำไม่เพียงแต่ในเศรษฐกิจหลักๆ ในประเทศไทยเองก็มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่ากังวลใจมากนัก 

สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบอยู่บ้างสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ คือ การแข็งค่าของสกุลเงินบาท โดยเงินบาทตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าอยู่ในระดับกว่า 5 % เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ จึงนับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญ มีผลให้การซื้อสินทรัพย์มีราคาที่ถูกลงถ้ามองในแง่ของการนำเงินก้อนใหม่ไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะการนำเข้าของสินค้าและบริการ ในขณะเดียวกันก็ทำให้สินค้าส่งออกในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงต้นทุนที่เป็นเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้สินค้าเรามีราคาแพงขึ้น หรือเงินลงทุนเดิมที่อยู่ในรูปของเงินสกุลต่างประเทศนั้นก็จะมีการลดลงของมูลค่าเงินลงทุนจากการที่สินทรัพย์ต่างประเทศหากคิดเป็นเงินบาทจะทำให้ผลตอบแทนลดลงอยู่ในช่วงเวลานี้

แต่อย่างไรก็ตามความผันผวนของค่าเงินในระดับ 5% ก็ถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูงและน่าจะมีการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพอันใหม่ ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง ใกล้เคียงกับระดับ 10% ของ GDP จึงเชื่อได้ว่าความมีเสถียรภาพหลังจากที่เงินบาทปรับเข้าสู่ระดับดุลยภาพในระยะสั้นในระดับปัจจุบัน จะนำไปสู่การปรับตัวของระบบเศรษฐกิจและการปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์ลงทุนในรูปของเงินบาทรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน

 

 

นักลงทุนหลายๆ ท่านคงมีความกังวลในกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น จนอาจสร้างความกังวลว่าจะเป็นการซื้อสินทรัพย์ราคาแพงกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน แต่ก็ยังมีข่าวดีครับว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของผลกำไรในบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และยุโรป บริษัทชั้นนำยังคงมีอัตราการเติบโตของผลกำไรอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเกินกว่าความคาดหมาย ในขณะเดียวกันแม้กระทั่งตลาดหุ้นไทยเอง การเติบโตของผลกำไรในบริษัทจดทะเบียนหลังจากผ่านไปครึ่งปีก็พบว่าการเติบโตของผลกำไรที่แท้จริงนั้นสูงกว่าระดับการคาดการณ์ในช่วงต้นปีแรก สิ่งนี้จะทำให้ระดับราคาในปัจจุบันนั้น มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้นเมื่อมองแนวโน้มการเติบโตของผลกำไร เมื่อมองเข้าสู่ปี 2018 

อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำท่านนักลงทุนครับว่า หากลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ความกังวลและความอึดอัดใจในการที่จะลดความเสี่ยงสามารถมีทางออกง่ายๆ ก็คือ เราสามารถที่จะทยอยทำกำไร ปรับลดประมาณการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงของท่านจาก 100% ลองเริ่มทยอยลดสัดส่วนลงสัก 1-2% ในตลาดที่ท่านมีความกังวล 

อย่างเช่น ในปัจจุบันตลาดหุ้นไทยอาจจะยังไม่ใช่ตลาดที่ทำได้ดีนักเมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ อินเดีย หรือเกาหลีใต้ หากเราใช้กลยุทธ์ในการทยอยทำกำไรแต่เพียงส่วนน้อย ทำให้ท่านได้รู้สึกว่าได้มีการลดความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด เมื่อใดก็ตามที่การขายของท่านในครั้งถัดไป มีระดับการขายที่ต่ำกว่าในครั้งก่อนหน้านั้น นั่นก็อาจเป็นสัญญาณเตือนในระยะเริ่มแรกว่าตลาดอาจเข้าสู่ภาวะการปรับตัวอ่อนกำลังลง 

การคาดการณ์ว่าตลาดจะอยู่ที่จุดสูงสุดตรงไหนมิใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเราจึงต้องมีวินัย และทดสอบความเชื่อของเราตลอดเวลาว่าตลาดอาจจะยังดีอยู่ กับการซื้อขายบางส่วนเพียงเล็กน้อยเพื่อทดสอบตลาดและความมั่นใจของเรา เพื่อไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเรามี bias กับการลงทุนของเราเอง ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าจะนำไปใช้ได้

โดยรวมแล้ว หุ้นยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุด แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นของตลาดนับตั้งแต่ต้นปี หากมี correction เกิดขึ้นก็หวังว่าหากท่านมีการทยอยลดการลงทุนเพื่อ take profit บ้างบางส่วน ก็อาจจะมีความสามารถในการที่จะกลับเข้ามาซื้อแบบ trading เพิ่มการลงทุนในช่วงเวลาที่ตลาดอาจมีความผันผวนเพิ่มขึ้น จากในปัจจุบันซึ่งความผันผวนนั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุดระดับหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 

หัวใจหลักของกลยุทธ์คือการ Stay Invested ครับ นักลงทุนที่ดีจะต้องถือสินทรัพย์ผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ตลาดมอบให้กับท่าน ในขณะเดียวกันก็ไม่ประมาท และควรมีกลยุทธ์ในการทดสอบตลาด เพื่อลดความเสี่ยงและเพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ของตัวเองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดีครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด