Worldwide Wealth by SCBAM : 3 ปัจจัยติดตาม จับจังหวะเลี้ยวโค้งลงทุนครึ่งปีหลัง

30 สิงหาคม 2566

         ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ตลาดหุ้นต่างประเทศโดยรวมปรับตัวขึ้นได้ดี  หลังจากที่ในปีก่อนหน้าถูกเทขายจากความกังวลต่างๆ ทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งในครั้งนี้ ตลาดที่กลับมาให้ผลตอบแทนโดดเด่นจะอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีผลประกอบการแข็งแกร่ง จากแรงหนุนด้านการใช้ Artificial Intelligence (AI) ในหลายๆภาคส่วน ประกอบกับแรงกดดันของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีที่ผ่านมาเริ่มชะลอลงตามอัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆลดลง รวมไปถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ได้รับแรงหนุนจากการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของภาคบริการ ส่วนตลาดหุ้นยุโรปอาจเห็นแรงปรับตัวขึ้นได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ เนื่องจากความเสี่ยงภาคธนาคารที่เข้ามาในช่วงปลายไตรมาสแรก ในขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ก็ยังปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก สำหรับด้านตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย ซึ่งนำโดยตลาดหุ้นจีนนั้น มีการฟื้นตัวได้ดีในช่วงเดือนแรกของปี จากการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาด แต่ก็มีปัจจัยเชิงลบเข้ามากระทบหลายด้าน ทั้งปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และการที่สหรัฐฯ ออกนโยบายจำกัดการลงทุนในอุตสาหกรรม Chip และ Artificial Intelligence (AI)  ทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงก็ตาม แต่จากการฟื้นตัวของธีมเทคโนโลยีในปีนี้มาแรง ก็ยังเป็นแรงส่งให้ส่วนของตลาดหุ้นเกาหลีและไต้หวันกลับมีผลตอบแทนสูงกว่าตลาดเกิดใหม่อื่น

         หากจะพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังว่าเป็นอย่างไรนั้น ตลาดทุนเองยังมีหลายปัจจัยที่ยังต้องติดตามซึ่งมีความท้าทายต่อการลงทุนอย่างยิ่ง ปัจจัยแรกคือ อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง และสภาพคล่องในตลาดการเงินจะเริ่มลดลงอย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของโลกมีแนวโน้มชะลอลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงเร็ว อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลงได้ช้า เนื่องจากค่าจ้างที่ยังสูงและตลาดแรงงานที่ตึงตัว ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มขยายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยสูงต่อไปถึงสิ้นปี   ขณะที่สถานการณ์ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารขนาดเล็กในสหรัฐเริ่มผ่อนคลาย ปริมาณเงินฝากในภาคธนาคารเริ่มมีเสถียรภาพ จึงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะกลับมาเดินหน้าลดสภาพคล่องที่ยังมีอยู่สูงมาก เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางยุโรป ที่มีแผนจะเร่งลดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ สำหรับปัจจัยถัดมาคือแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ความเสี่ยงการเกิดภาวะถดถอยก็ยังสามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนจะกลับมากังวลได้ว่าทิศทางของนโยบายการเงินหลังจากนี้อาจมีความเข้มงวดอย่างต่อเนื่องได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายธนาคารกลางมาก อีกทั้งความแข็งแกร่งของภาคครัวเรือนลดลง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่อัตราการออมได้ปรับตัวลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว เงินออมส่วนเกินที่สะสมมาจากวิกฤตโควิด และคาดว่าจะเริ่มหมดลงในช่วงไตรมาสที่ 3 นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะกลับมาเก็บหนี้เพื่อการศึกษาในเดือน ต.ค. ซึ่งอาจจะกระทบต่อการบริโภคค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่ปัญหาในภาคธนาคารส่งผลให้การขยายสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น แนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังคงมีความเสี่ยงถูกปรับลดเป้าหมายลง ประเด็นสุดท้ายความท้าทายในการเข้ามาประคองเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เรื่อยมา เศรษฐกิจจีนกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งที่สำคัญของภาคครัวเรือน และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่น ขณะที่นโยบายรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) ได้ส่งผลให้ความต้องการแรงงานปรับลดลง กดดันให้รัฐบาลและธนาคารกลางจีนมีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการมาประคับประครองเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน


         สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศในครึ่งหลังของปี 2566 SCBAM ยังเน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบระมัดระวัง โดยเน้นลงทุนในกลุ่มประเทศและอุตสาหกรรมที่ได้ผลกระทบที่จำกัดจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก มีผลประกอบการ และกระแสเงินสดที่ดี และได้ประโยชน์จากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้หลังจากเงินเฟ้อปรับลงมา รวมไปถึงกลุ่มเกี่ยวข้องกับธีม Artificial Intelligence (AI) โดยกลุ่มตราสารทุนที่มีความน่าสนใจในระยะถัดไปเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตของผลกำไรสูง (Growth) และ กลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Tech) ประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนควรมีการกระจายการลงทุนไปที่กลุ่มที่มีความผันผวนของผลตอบแทนต่ำ (Low Volatility) และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่ระดับมูลค่าพื้นฐานถูก  และได้ประโยชน์จากความต้องการวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เป็นตัน

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​