Worldwide Wealth by SCBAM : ‘เอลนีโญ’ กับผลกระทบต่อโลกของการลงทุน

13 กันยายน 2566

         ปรากฏการณ์ เอลนีโญ (El Nino) คือรูปแบบทางสภาพอากาศที่กระแสลมที่พัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทร (Trade Wind) อ่อนกำลังลง ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้ ส่งผลให้ทวีปเอเชียและแถบโอเชียเนีย มีฝนตกน้อยลงและประสบกับภาวะแห้งแล้ง ในทางกลับกัน  ทวีปอเมริกาใต้จะมีฝนตกชุก โดยปรากฏการณ์เอลนีโญ มักเกิดขึ้น ทุก ๆ 2 ถึง 7 ปี และแต่ละครั้ง มักมีระยะเวลาประมาณ 9-12 เดือน ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับเอลนีโญ จะถูกเรียกว่า ลานีญา (La Nina)

         การมาของปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ ทำให้เกิดความกังวลในหลายด้าน ทั้งสภาวะอากาศและเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO (World Meteorological Organization) คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้มากถึง 90% ที่สภาวะเอลนีโญ จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 และความรุนแรงน่าจะอยู่ที่ระดับปานกลาง (Moderate) เป็นอย่างน้อย ซึ่งภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบทางตรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ โดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชีย ที่ภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน บริษัทประกันภัยต่อระดับโลกอย่าง Swiss Re ได้จัดทำดัชนี Climate Economics Index ปี 2021 เพื่อวัดความอ่อนไหวของเศรษฐกิจ 48 ประเทศ (คิดเป็น 90% ของขนาดเศรษฐกิจโลก) ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พบว่า ประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบมากสุด อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ รวมถึง ไทย

         อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรหลายประเภท เช่น น้ำตาล กาแฟ ข้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น จะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ จากการศึกษาของ UBS พบว่า น้ำมันปาล์ม เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวต่อสภาวะอากาศค่อนข้างมาก และมีผลผลิตที่ลดลงโดยเฉลี่ยราว 6% ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในอดีต จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 22% โดยเฉลี่ย และเนื่องจากน้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ดังนั้น การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันปาล์มก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้


         นอกจากนี้ SCB EIC ประเมินว่า เอลนีโญ เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลทำให้ราคาข้าวโลก ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่า หากเอลนีโญเกิดในระดับที่รุนแรง ก็จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินของประเทศผู้ส่งออก 4 อันดับแรกของโลก ได้แก่ อินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน ลดลงราว 4.6 ล้านตัน คิดเป็น 8.2% ของปริมาณการค้าข้าวโลก และถึงแม้ว่า เอลนีโญ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่ไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงในบางพื้นที่จะถูกชดเชยด้วยผลผลิตจากพื้นที่อื่น เช่น จีน แต่น่าจะไม่พอเพียงต่อความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น นั่นทำให้สต็อกข้าวโลกมีแนวโน้มปรับลงในปีการผลิต 2023/2024สำหรับด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ทาง SCB EIC ประเมินกรณีฐานมูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรจากภาวะฝนแล้งปี 2023 จะอยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในปีหน้าตามฤดูกาลการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

         ในขณะที่ การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางของหลายประเทศ มีโอกาสได้รับผลกระทบทางอ้อมเช่นกัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น จนมีผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงช้ากว่าคาดหรืออาจเร่งตัวขึ้น หรือในกรณีภัยแล้งรุนแรง ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ นอกจากจะกระทบต่อการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมแล้ว ก็อาจกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำด้วยเช่นกัน ทำให้ต้องปรับแผนมาพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นในบางช่วงเวลา ผลักดันต่อราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องคงดอกเบี้ยในระดับสูงหรือปรับลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาด เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ถือเป็นแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุน

         ตัวแปรของสมการการลงทุนในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ปัจจัยด้านการเงินและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ปัจจัยและความท้าทายอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และความมั่นคงด้านอาหาร  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวของนักลงทุนอีกต่อไป นักลงทุนควรเฝ้าระวัง แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไป สำหรับในเชิงกลยุทธ์การลงทุน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เรามองว่า บริษัทที่มีแบรนด์สินค้าแข็งแกร่งและสามารถส่งผ่านต้นทุนได้ รวมถึง มีความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบจากหลายแหล่ง น่าจะปรับตัวได้ในช่วงเวลาที่มีความท้าทายจากเอลนีโญ และเรายังเชื่อว่า การจัดพอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยง ทั้งในแง่ของประเภทสินทรัพย์, ภูมิภาค และกลุ่มอุตสาหกรรม ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการลงทุนระยะยาว

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​