เงินสำรองฉุกเฉิน ฮีโร่การเงิน ในวันที่เจอวิกฤติ

17 เมษายน 2563

สวัสดีครับ มาพบกันอีกแล้ว เป็นอย่างไรกันบางครับ อย่าเครียดกับวิกฤติต่างๆ จนลืมดูแลหัวใจ และ การเงินกันด้วยนะครับ
สำหรับในช่วงเวลาวิกฤติที่เราทุกคนต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ ฮีโร่ด้านการเงินคืออีกสิ่งที่เราทุกคนอยากพบเจอมากที่สุด เพราะจากเหตุไม่คาดฝันต่างๆ ทำให้เราต้องบริหารจัดการเงินในกระเป๋า และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังนั่นเองครับ

วิกฤติทำให้ชีวิตเรายากขึ้น เพราะเราไม่รู้ล่วงหน้าว่าวิกฤตินั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้นแล้วการวางแผนการเงินให้ดีและมีเงินสำรองฉุกเฉินจึงจำเป็นมากๆ นะครับ SCBAM จึงขอนำเสนอเทคนิคเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน สำหรับเพื่อนๆ ที่เพิ่งเริ่มเห็นความสำคัญของเงินก้อนนี้ และเพื่อนๆ ที่อาจจะต้องเก็บเงินก้อนนี้ใหม่อีกครั้ง ไปดูกันครับ

 

ควรเก็บเท่าไหร่ให้พอดี เป็นคำถามแรกที่เกิดขึ้นหลังจากคิดที่จะเริ่มเก็บออมเงิน ซึ่งคงตอบได้ยาก เพราะนั่งคิดเองก็จะอาจจะไม่ครบ  ถ้างั้นแนะนำให้เริ่มจาก  ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย แล้วสรุปรายจ่ายจำเป็นในแต่ละเดือน

ขั้นแรกของการเริ่มเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน คือต้องรู้ว่าแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายจำเป็นเท่าไหร่ ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว ภาระทางการเงิน เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รวมทั้งเงินที่ต้องจุนเจือสมาชิกในครอบครัว ถ้าจะให้ดี ควรคิดเผื่อในกรณีเจ็บป่วยเอาไว้ด้วย หากยังไม่มีประกันชีวิตหรือสุขภาพคอยคุ้มครอง แนะนำให้สำรองเงินไว้ให้มากขึ้น

 

คำถามถัดมาหลังจากที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้ว  คนทำงานอย่างเราๆ ต้องมีเงินเก็บกี่เดือนถึงจะพอใช้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิกหล่ะ ไปดูในแต่ละอาชีพกันครับ

เงินสำรองฉุกเฉินของคนแต่ละอาชีพก็ไม่เท่ากันเสมอไป ในกรณีที่เราไม่มีรายได้และสวัสดิการที่แน่นอน หรือทำงานฟรีแลนซ์ ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 12 เดือน เผื่อขาดรายได้ หรือเจ็บป่วย จะได้มีเงินดูแลตัวเอง หากเป็นพนักงานบริษัทที่มีเงินเดือนและมีสวัสดิการอยู่บ้าง ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน เผื่อเกิดวิกฤติจำเป็นต้องออกจากงาน ก็ยังมีเงินสำรองใช้จ่ายจนช่วงเวลาวิกฤติหมดไป แต่ถ้าเป็นข้าราชการ ถือว่ามีความมั่นคงค่อนข้างมากและมีสวัสดิการสำหรับตัวเองและครอบครัว ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3 เดือน เผื่อเหตุไม่คาดฝันที่อาจทำให้เรามีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

 

เมื่อเราเริ่มคิดถึงเงินสำรองยามฉุกเฉินซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเก็บเงินออมไว้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ แล้ว SCBAM ก็อยากจะบอกว่า เงินสำรองฉุกเฉินก้อนนี้ ก็นำไปต่อยอดได้นะ แต่จะต่อยอดยังไง ให้พอเหมาะ ไปดูกันเลยครับ

เลือกฝากเงินและลงทุนในกองทุนที่สภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เงินสำรองฉุกเฉินควรเป็นเงินที่มีสภาพคล่องสูง เบิกใช้ได้ทันที เบื้องต้นแนะนำให้เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แต่ต้องไม่ลืมว่าผลตอบแทนจากบัญชีออมทรัพย์จะค่อนข้างต่ำ จึงควรนำเงินมาลงทุนในกองทุนความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน (SCBTMFPLUS) หรือหากเริ่มเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง ควรนำไปลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นอีกขั้นก็ได้

 

เป็นไงบ้างครับ สำหรับเทคนิคต่างๆ ที่นำมาเสนอ อย่าลืมว่า เงินสำรองฉุกเฉิน คือเงินก้อนสำหรับใช้ดำรงชีวิตเมื่อขาดรายได้ หรือมีรายจ่ายที่ไม่คาดฝัน ที่คนวัยทำงานทุกคนจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ หลายคนอาจจะต้องทุบกระปุกเอาเงินก้อนนี้ออกมาใช้แก้ขัด และเห็นความสำคัญของเงินสำรองฉุกเฉินมากขึ้น SCBAM ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน และ จัดการกับสุขภาพทางการเงินให้อยู่หมัดกันนะครับ