SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 21-25 ก.ย. 2563

21 กันยายน 2563

“FED ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำต่อไปจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ค่อนข้างผันผวน หลังจากอาทิตย์ก่อนหน้าที่ตลาดรับรู้ข่าวร้ายเรื่องโครงการพัฒนาวัคซีนต้าน COVID-19 ระหว่างบริษัทยา AstraZeneca และมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ จำเป็นต้องหยุดชะงักชั่วคราว ทำให้การทดลองวัคซีนในขั้นสุดท้ายอาจมีความล่าช้ากว่าที่คาด ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีปรับลงแรงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางในหลายประเทศต่างเร่งออกมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ โดยการประชุมครั้งล่าสุดในวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา FED มีมติ 8 ต่อ 2 ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% และอาจคงอัตรานี้ไปจนถึงปี 2023 นอกจากนี้ FED ยังระบุว่าจะเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตราปัจจุบันอย่างน้อยเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลเดือนละ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ เดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. ฟื้นตัวจำกัด จากตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ส.ค. ขยายตัวที่ระดับ 0.6% MoM ซึ่งต่ำกว่าเดือนที่แล้วอยู่ -0.3% MoM ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือน ส.ค. ขยายตัวลดลงจากระดับที่ 3.5%MoM เป็น 0.4% MoM เนื่องจากผลผลิตในกลุ่มยานยนต์หดตัวถึง -3.7%MoM เป็นผลสืบเนื่องจากผลกระทบของพายุโซนร้อนที่กดดันการกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 

ยอดการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขการส่งออกยังอยู่ในแดนหดตัวแต่จะเห็นว่าการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นจากที่ระดับ -19.2%YoY ในเดือนก่อนเป็นที่ระดับ -14.8%YoY จากยอดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยุโรป รวมถึง ASEAN ที่ยังคงติดลบ เป็นผลมาจากกิจกรรมภาคต่างประเทศที่ยังอ่อนแอและสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ภายนอกประเทศ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนในเดือน ส.ค. ปรับตัวขึ้น จากยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ส.ค. กลับมาขยายตัวจาก -1.1% YoY ในเดือนก่อนเป็นที่ระดับ 0.5%YoY เช่นเดียวกับตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ปรับตัวดีขึ้นจาก 4.8%YoY เป็นระดับ 5.6%YoY เนื่องจากอุปสงค์โลกมีแนวโน้มฟื้นตัวและรัฐบาลทยอยผ่อนปรนมาตรการที่เข้มงวดต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ในระลอกสองของจีนเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น

กลยุทธ์การลงทุน

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารหนี้ US Short Duration High Income (SCBUHYA)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (SCBEMBOND)