SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 11-18 มิ.ย. 2564

11 มิถุนายน 2564

“ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าคาด”

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในหลายประเทศ เนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน โดยล่าสุดประเทศพัฒนาแล้วฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 51.45% และ 42.36% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ขณะที่ประเทศภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทยฉีดไปแล้ว 13.86%, 19.10%, 12.04% และ 5.26% ตามลำดับ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดทำการตามปกติได้มากขึ้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นแต่การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากปัจจัยชั่วคราว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี ลดลงต่อมาอยู่ที่ระดับ 1.4% อีกทั้งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในช่วงนี้อาจทำไปสู่การลดการอัดฉีดสภาพคล่องของ FED ในระยะถัดไป

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) เดือน พ.ค. ของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. เร่งตัวขึ้นเป็นระดับ 5.0% YoY จาก 4.2% ในเดือนก่อนหน้า นับว่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2008 และเป็นผลมาจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เกิดการระบาดรุนแรงของ COVID-19 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อโดยหลักยังเป็นผลจากราคาในหมวดที่เกี่ยวเนื่องกับการเปิดเศรษฐกิจ (Reopening) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม และเสื้อผ้า

ตัวเลขการส่งออกของจีนเดือน พ.ค. ชะลอตัวลง โดยตัวเลขเดือน พ.ค. ขยายตัวที่ระดับ 27.9% YoY แต่ชะลอตัวลงจากระดับที่ 32.3% ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศตะวันตกชะลอตัวลง เช่น สหรัฐฯ และประเทศฝั่งทวีปยุโรป ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศแถบ ASEAN ซึ่งมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการ Work From Home ทั้งสินค้าเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน

การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงนโยบายผ่อนคลายตามคาดการณ์ ล่าสุดในการประชุมวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ECB ยังคงมีมติที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม -0.50% และคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการ PEPP โดยเป้าวงเงินการเข้าซื้อยังคงเข้าซื้อที่ 1.85 แสนล้านยูโรจนถึงเดือน มี.ค. 2565 เป็นอย่างน้อย อีกทั้งคณะกรรมการยังคงระบุพร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องมือที่มีตามความเหมาะสม เพื่อหนุนให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน และยังปรับประมาณการเศรษฐกิจ GDP ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.6% มาอยู่ที่ระดับ 4.6%

ปรับคำแนะนำจากเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็นคงน้ำหนักการลงทุนในทองคำ ขายทำกำไรจากราคาทองคำปรับขึ้นมาในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. เร่งตัวขึ้นเป็นระดับ 5.0% YoY จาก 4.2% ในเดือนก่อนหน้า อีกทั้งอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวสหรัฐฯ อายุ 10 เริ่มมีแนวโน้มปรับลดลงจาก 1.6% มาอยู่ที่ช่วงกรอบประมาณ 1.4-1.5% นอกจากนี้ยังควรจับตาการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและท่าทีของธนาคารกลาง FED ที่เริ่มส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE taper) ในระยะข้างหน้าจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

กลยุทธ์การลงทุน

“สับเปลี่ยนกองทุน” ออกจากกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เซ็ท อินเด็กซ์ ฟันด์ (SCBSET) เข้ากองทุนฯ ธนอนันต์ (SCBDA)

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส แอคทีฟ (SCBUSAA)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ (SCBBLN)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปสมอลแคป (SCBEUSM)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล (SCBPIN)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ (SCBGOLDH)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส ดีเจไอ (SCBDJI(A))