คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : จับตากลุ่มได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง

22 กรกฎาคม 2564

         จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2020 ส่งผลให้รัฐบาลในแต่ละประเทศออกมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดสถานประกอบการบางแห่งชั่วคราวหรือจำกัดจำนวนคนในแต่ละพื้นที่ อาทิ สถานบันเทิง ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ รวมถึงงดการเดินทางข้ามพรมแดน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักอย่างเฉียบพลันโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แม้ต่อมาสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศเริ่มกลับมามีแนวโนมที่ดีขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง แต่ก็ยังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่อยู่อีกหลายครั้ง และยังมีความกังวลต่อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ทำให้หลายประเทศยังไม่สามารถผ่อนปรนมาตรการ lock down อย่างเต็มรูปแบบได้

         จากข้อมูล World economic forum รายงานว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2020 เสียหายกว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวกว่า 50% ในปี 2020 ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกที่หดตัว 3.7% โดย Deloitte พบว่ากลุ่มธุรกิจที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบิน ซึ่งมียอดการจองลดลงมากกว่า -40% YoY ด้วยสาเหตุนี้ทำผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลดการจ้างงานในช่วงที่มีมาตรการคุมเข้ม เพื่อลดต้นทุนการจ้างงาน ท่ามกลางการสูญเสียรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง โดยการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกลดลงกว่า 61.6 ล้านตำแหน่ง หรือ -18.5% YoY ในปี 2020

         อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปลายปี 2020 มีบริษัทผลิตวัคซีนหลายแห่งเปิดเผยข้อมูลผลการทดสอบวัคซีนพบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อในระดับสูง โดยปัจจุบันมีบริษัทผลิตวัคซีนต้าน COVID-19 ที่ได้รับการรับรองจาก World Health Organization (WHO) แล้วจำนวน 7 บริษัท ได้แก่ บริษัทยา Pfizer, Johnson & Johnson, Moderna, Astrazeneca (รวมถึง Covishield ที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย), Sinopham และ Sinovac โดยล่าสุดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 52.85% และ 38.15% (ข้อมูล ณ 20 มิ.ย. 2021) ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ โดยคาดว่าสหรัฐฯ และยุโรปจะได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ (มากกว่า 60% ของประชากรในประเทศได้รับวัคซีน) ในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ ส่งผลให้กลุ่มประเทศดังกล่าวเริ่มส่งสัญญาณการเปิดประเทศและมีแผนการทำ Travel bubble นำโดย สหรัฐฯ ที่เริ่มรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีน Pfizer, Johnson & Johnson และ Moderna ครบจำนวน 2 โดสแล้ว ขณะที่ยุโรปจะเริ่มใช้ EU Digital COVID Certificate ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ซึ่งจะอนุญาตให้ประชาชนที่ได้รับการรับรองสามารถเดินทางได้อิสระและปลอดภัยมากขึ้น

 

         ปัจจุบันธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวมากขึ้น สังเกตได้จากตัวเลขอัตราการเข้าพักโรงแรม (Hotel Occupancy Rate) ในสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 22.2% ในเดือน เม.ย. 2020 สู่ระดับ 61.9% ในเดือน มิ.ย. 2021 ใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ 65% ขณะที่อัตราการเข้าพักโรงแรมในยุโรปส่งสัญญาณการฟื้นตัวเช่นเดียวกัน โดยฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ประมาณ 10% ในเดือน เม.ย. 2020 สู่ระดับ 20% ในเดือน มิ.ย. 2021 ซึ่งยังคงล้าหลังเมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ 60% เนื่องจากยุโรปได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดหลายระลอก อย่างไรก็ดี คาดว่าหลังจากนี้ตัวเลขอัตราการเข้าพักโรงแรมในยุโรปจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนที่รวดเร็วและการกลับมาเปิดประเทศ อีกทั้งดัชนีการนั่งรับประทานอาหารภายในร้านก็ฟื้นตัวดีขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป เป็นไปตามการผ่อนปรนมาตรการ lock down นอกจากนี้ข้อมูลจาก Flight Radar พบว่าปัจจุบันมีการเดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มขึ้นสูงถึงกว่า 190,000 เที่ยวบินต่อวัน ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือน เม.ย. 2020 ที่ระดับประมาณ 65,000 เที่ยวบินต่อวัน และใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งอยู่ที่ 200,000 เที่ยวบินต่อวัน สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของการเดินทางข้ามพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         โดยคาดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะถัดไปหลังจากนี้คาดว่า จะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการแจกจ่ายวัคซีนอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบกับแผนการกลับมาเปิดประเทศและการทำ Travel Bubble เป็นสำคัญ โดยมาตรการการควบคุมนักท่องเที่ยวหลังจากนี้จะมีแนวโน้มที่ผ่อนคลายมากขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนวันกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละประเทศลดลง ประกอบกับมาตรการคุมเข้มตามสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงการใช้บริการขนส่งสาธารณะมีความผ่อนคลายมากขึ้น โดย Mckinsey&Co คาดว่าในปี 2021 รายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของ 10 ประเทศชั้นนำจะฟื้นกลับมาในระดับ 85% ของปี 2019 และจะกลับมาเทียบเท่าก่อนการระบาดได้ในปี 2023 สำหรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้น ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้ฟื้นตัวมาก่อนและผลตอบแทนได้ปรับขึ้นเหนือช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ไปแล้วค่อนข้างมาก เช่น Expedia ซึ่งทำธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว และบริษัท Flutter ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับพนันออนไลน์

         อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มสายการบิน และโรงแรมที่ผลตอบแทนยังต่ำกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลกอยู่มาก โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2020 ตลาดหุ้นโลกได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 26% (ที่มา: Bloomberg ช่วง 1 ม.ค. 2020 – 21 มิ.ย. 2021) โดยหุ้นบริษัทสายการบิน เช่น American Airline, United Airline และ Delta Airline ผลตอบแทนยังคงติบลบอยู่ที่ระหว่าง 22 - 37% ขณะที่หุ้นในกลุ่มโรงแรม เช่น Marriott และ Hilton ให้ผลตอบแทน -6% และ 14% เช่นเดียวกันกับบริษัทคาสิโน เช่น Las Vegas Sands Corp ที่ให้ผลตอบแทนติดลบอยู่ที่ -21% ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าในระยะยาวธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากหลายบริษัทเริ่มหันมาปรับเปลี่ยนให้พนักงาน work from anywhere มากขึ้น นั่นหมายถึงพนักงานสามารถทำงานให้กับบริษัทที่ไหนก็ได้ซึ่งอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของธุรกิจการท่องเที่ยวในอนาคต

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด