ปัจจุบัน เราจะรู้จัก “กลุ่มกองทุนอสังหาฯ” กันดีอยู่แล้วว่ากลุ่มกองทุนนี้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund: กอง1)
2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า กองทุนอินฟราฯ
3. ทรัสต์เพื่อลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust) หรือ ‘กองรีท’ (REITs) และเป็นกลุ่มกองทุนที่มักจะได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนที่ต้องการสร้าง Passive Income ให้กับพอร์ตลงทุน เนื่องจากกลุ่มกองทุนอสังหาฯนี้ มักจะมี ‘รายได้’ ที่มาในรูปแบบของเงินปันผล/ประโยน์ตอบแทน จากการที่เราเข้าไปลงทุนกลับมาอย่างสม่ำเสมอ
ในปี 2564 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์การจ่ายเงินปันผล/จ่ายประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ คือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วในแต่ละรอบปีบัญชี ซึ่งเกณฑ์นี้ได้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 และให้มีผลตั้งแต่การรายงานผลประกอบการประจำปี 2564 ซึ่งสำหรับกองทุนที่ บลจ.ไทยพาณิชย์เป็นบริษัทจัดการอยู่นั้น ผู้จัดการกองทุนได้แจ้งให้นักลงทุนทราบในการประชุมสามัญเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว
คราวนี้ มาถึง “รายละเอียดการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อให้การจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทน” นั้น ก็เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้ กอง 1 หรือกองทรัสต์ สามารถดำเนินงานได้สอดคล้องกับการวางแผนทางการเงินและสถานะเงินสด และเพิ่มเติมให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) รวมถึง กองรีท (REITs) สามารถหักด้วยรายการเงินสำรอง การซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ จากกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วได้ สำหรับ ‘เกณฑ์จ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทนกลุ่มกองทุนอสังหาฯ ที่ปรับปรุงใหม่นี้ บริษัทจัดการ/ผู้จัดการกองทรัสต์ ต้องจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของ ‘กำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว’ ในแต่ละรอบปีบัญชี ภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชี หรือวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทนนั้น ซึ่งกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว จะหมายถึงกำไรสุทธิที่หักด้วยรายการเงินสำรองเฉพาะเพื่อใช้ในการซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์/ทรัพย์สิน ของกองทุน/กองทรัสต์ รวมถึงการชำระหนี้เงินกู้ยืมหรือภาระผูกพันของกองทุน/กองทรัสต์ ตามนโยบายการกู้ยืมเงิน/วงเงิน ที่ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่ในโครงการจัดการกองทุนรวม (กรณีเป็นกองทุน) หรือแบบไฟลิ่ง (กรณีเป็นกองทรัสต์) รวมถึง หนังสือชี้ชวน และ/หรือ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ที่จะมีการแจ้งให้ผู้ถือหน่วยทราบล่วงหน้า และการจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยชนิดที่ให้สิทธิในการได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือการคืนเงินทุนในลำกับแรก (ถ้ามี)
ทั้งนี้ สำหรับ ‘กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน’ หรือ ‘กองทุนอินฟราฟันด์’ จะสามารถหักสำรองเพื่อการซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว จึงไม่ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์เพิ่มเติมให้แต่อย่างใด
ในแนวทางการพิจารณาจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทน บริษัทจัดการ/ผู้จัดการกองทรัสต์ จะต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการดำรงเงินสดให้เหมาะสม ซึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติการพิจารณา และการชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลตามเกณฑ์การจ่ายเงินปันผล/จ่ายประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ คือ การคำนวณกำไรสุทธิของกองทุน/กองทรัสต์ ตามมาตรฐานการบัญชี/แนวปฏิบัติทางบัญชีสำหรับกองทุน/กองทรัสต์ จะไม่ได้ใช้เกณฑ์เงินสด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงตามมาตรฐานการบัญชี/แนวปฏิบัติทางบัญชีสำหรับกองทุน/กองทรัสต์ ก็อาจทำให้ตัวเลขในงบกำไรขาดทุน เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่อง สัญญาเช่า ที่บังคับใช้ ตั้งแต่วนัที่ 1 มกราคม 2563 ดังนั้น ในการพิจารณาจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทน หากมีรายการทางบัญชีที่ไม่สอดคล้องกับสถานะเงินสดของกองทุน/กองทรัสต์ บริษัทจัดการ/ผู้จัดการกองทรัสต์ ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการดำรงเงินสดของกองทุน/กองทรัสต์ให้เหมาะสม โดยสามารถนำรายการดังกล่าว มาปรับปรุงกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ได้ โดยมีตัวอย่างรายการที่สามารถนำมาปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานะเงินสด เช่น
ทั้งนี้ กองทุน/กองทรัสต์ จะต้องไม่กู้ยืมเงินเพื่อจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทน และในกรณีที่กองทุน/กองทรัสต์ยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ห้ามจ่าย เงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทน และในกรณีที่ บริษัทจัดการ/ ผู้จัดการกองทรัสต์ ไม่สามารถจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทนได้ถึงร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วข้างต้นตามเกณฑ์ สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจัดการ และผู้ดูแลผลประโยชน์ /ผู้จัดการกองทรัสต์และทรัสตีต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็น พร้อมทั้งแสดงข้อมูลที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทนได้ตามเกณฑ์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่มีการประกาศการจ่ายเงินปันผล/ประโยชน์ตอบแทน หรือตามแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด รวมทั้งเปิดเผยให้ผู้ถือหน่วยทราบในการประชุมสามัญประจำปี
“การปรับปรุงเกณฑ์ข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุน และเปิดโอกาสให้ได้รับทราบข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับรายการหักสำรองที่ บริษัทจัดการหรือผู้จัดการกองทรัสต์ จะดำเนินการในปีนั้นๆ รวมถึงสามารถสอบถามข้อมูลความคืบหน้าของโครงการปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ และแผนการใช้เงินที่แจ้งการหักสำรองไว้ได้อีกด้วย”
โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด