แก่และจน ความโหดร้ายที่หลีกเลี่ยงได้ ออมเท่าไหร่ให้พอเกษียณ

5 เมษายน 2559

แก่และจน ความโหดร้ายที่หลีกเลี่ยงได้
ออมเท่าไหร่ให้พอเกษียณ

 

ในขณะที่นักวิชาการและสื่อหลากหลายได้เขียนเรื่องการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยในเชิงเศรษฐกิจและสังคมว่า เศรษฐกิจอาจเติบโตช้าลงเพราะมีแรงงานในวัยทำงานเทียบกับประชากรทั้งหมดลดลงหรือพูดง่ายๆ คือ จำนวนคนทำงานที่ต้องเป็นผู้เลี้ยงดูคนที่ไม่ทำงาน(เด็กและคนชรา)ลดลง  ปัญหาเชิงสังคมที่เกิดจากครอบครัวขนาดเล็กลง และการย้ายไปทำงานต่างถิ่นทำให้คนชราขาดคนดูแลต้องไปพึ่งบ้านพักคนชรามากขึ้นดังเช่นที่เริ่มเห็นกันมากขึ้นในต่างประเทศ

ในมุมของนักวางแผนการลงทุนและผู้จัดการกองทุนก็ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการออมแก่ลูกค้า สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่เสมอ  แต่ที่ผมเป็นกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง คือ อัตราการออมและการลงทุนของคนไทยยังต่ำมากและถ้ายังคงอยู่ในอัตราปัจจุบัน  ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณโดยที่มีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ปัญหาใหญ่ของการออมในประเทศไทย คือ ผู้ออมไม่มีเป้าหมายและไม่รู้ว่าต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อการเกษียณ บางคนยังยึดติดอยู่กับความคิดเดิมว่ามีเงินล้านก็ถือว่ารวยแล้วคงจะพอ  จริงๆ แล้วเรื่องนี้ได้มีการศึกษามาพอสมควรในต่างประเทศ  ซึ่งผมมีโอกาสได้เดินทางไปดูงานกับคณะของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน  ตลาดหลักทรัพย์ฯ  กระทรวงการคลัง และ สำนักงานคณะกรรมการ กลต. เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ผู้อ่านได้เตรียมตัวก่อนที่จะสายเกินไป

สูตรสำเร็จที่ต่างประเทศใช้กันมี 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่ง เราต้องมีเงินออมอย่างน้อย 30 เท่าของค่าใช้จ่ายรายปี (หรือ 360 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน) เช่น หากเราอยากมีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท เราก็ต้องมีเงินเก็บ ณ วันเกษียณอย่างน้อย 7.2 ล้านบาท  ที่มาของสูตรนี้ คือ ถ้าเราเอาเงินเก็บ 7.2 ล้านบาทไปฝากหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำผสมกัน ก็น่าจะได้ผลตอบแทนอยู่ประมาณ 3-4% หรือได้ดอกผลประมาณปีละ 216,000-288,000 บาท ตกประมาณเดือนละ 20,000 บาทนั่นเอง สูตรนี้จริงๆ แล้วยังมิได้รวมค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินในยามชรา ฉะนั้นอาจต้องเผื่อไปอีกนิดหน่อยด้วย

อีกสูตรหนึ่งบอกว่าเราควรต้องมีเงินได้ต่อเดือนหลังเกษียณประมาณ ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเดือนสุดท้าย อันนี้คาดว่าน่าจะมีที่มามาจากสวัสดิการแบบบำนาญเดิม คือ หากก่อนเกษียณเรามีรายได้เดือนละ 40,000 บาท เราก็ควรจะมีสินทรัพย์ที่สามารถจ่ายดอกผลให้เราได้เดือนละประมาณ 20,000 บาทหรือปีละ 240,000 บาท  โดยถ้าเราลงทุนแบบผสมตามข้างต้นแล้วได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3-4% ก็ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 7.2 ล้านบาทเช่นกัน

หากใครอยากมีเงินใช้ต่อเดือนมากหน่อย เช่น เดือนละ 40,000 บาท หรือ 60,000 บาท ก็สามารถใช้สูตรด้านบนเทียบบัญญัติไตรยางค์ไปตามสัดส่วน นั่นคือก็ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 14.4 ล้านบาท และ 21.6 ล้านบาท ตามลำดับ  ที่นี้อยากให้ท่านลองสำรวจตัวเองดูว่า วันนี้เราเก็บเงินและลงทุนให้มันงอกเงยไปถึงเป้าหมายของแต่ละท่านแล้วหรือยัง!

สิ่งที่ผมเป็นกังวลถัดมา คือ ผมลองดูตัวเลขสถิติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสมาชิกหลายๆ ท่าน พบว่าส่วนใหญ่ยังห่างไกลจากเป้าหมายเหลือเกิน สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เข้าใจการลงทุนและกลัวความเสี่ยงจึงเลือกลงทุนแบบที่ปลอดภัยที่สุด คือ การลงทุนในตลาดเงิน ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำพอๆ กับเงินเฟ้อ ทำให้มีเงินเก็บไม่เพียงพอตอนเกษียณ

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานจบปริญญาตรีเริ่มทำงานอายุ 23 ปี เงินเดือน 15,000 บาท ทำงานถึงอายุ 60 ปี รวมเวลาทำงาน 37 ปี ได้เงินเดือนขึ้นทุกปีๆ ละ 5% เงินเดือนก่อนเกษียณจะอยู่ที่ 91,200 บาท  โดยพนักงานและบริษัทนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝ่ายละ 5% เท่าๆ กันรวมเป็นปีละ 10% ของรายได้ (หากบริษัทไหนใจดีให้มากกว่านี้ก็ถือว่าคุณโชคดีมีนายจ้างดี) ถ้าลงทุนต่อเนื่องตลอดโดยเลือกแผนตลาดเงินที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวที่ประมาณ 2% สุดท้ายจะมีเงินออมรวมดอกผลเพียง 2.6 ล้านบาท  แต่ถ้าท่านเลือกลงทุนแบบผสมที่เสี่ยงขึ้นมาหน่อย ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวประมาณ 5% สุดท้ายจะมีเงินออมรวมดอกผลประมาณ 4.2 ล้านบาท และหากท่านเลือกลงทุนแบบเสี่ยงมากให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวประมาณ 8% สุดท้ายจะมีเงินออมรวมดอกผลประมาณ 7.2 ล้านบาท

จากตัวอย่างจะเห็นว่าเราต้องเลือกลงทุนแบบสูงที่ให้ผลตอบแทนฉลี่ย 8% จึงจะได้ดอกผลรวมถึง 7.2 ล้านบาทตามที่เราตั้งใจเพื่อให้มีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท  แต่ถ้าสังเกตุจากด้านบนจะพบว่า 7.2 ล้านบาท หรือดอกผลให้ใช้หลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาทนั้นยังได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเดือนสุดท้ายเลย หากท่านใดตั้งเป้าจะทำให้ได้ ก็ต้องเพิ่มอัตราการออมและลงทุนขึ้นไปอีกเป็น 21% ของรายได้แต่ละปี และต้องลงทุนแบบให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวช่วงก่อนเกษียณประมาณ 8% ขึ้นไปอีกด้วย

อ้าว! แล้วแบบประเมินความเสี่ยงที่พวกเราต้องทำกันละครับ ในต่างประเทศเขาไม่นำมาใช้กับการออมเพื่อการเกษียณเพราะว่ามันแตกต่างจากการลงทุนทั่วไป การออมเพื่อการเกษียณมีระยะเวลาลงทุนที่ยาวมาก สามารถทนต่อความผันผวนของตลาดและสินทรัพย์เสี่ยงได้ หากให้ประเมินแล้วรับความเสี่ยงได้ต่ำลงทุนแบบไม่เสี่ยงเลยก็จะทำให้มีเงินไม่พอในยามแก่ซึ่งเป็นความเสี่ยงอีกรูปแบบที่น่ากลัวมากกว่า แต่เขาจะค่อยๆ ปรับลดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงโดยอัตโนมัติหรือที่เราเรียกว่ากอง Life Path เมื่อสมาชิกหรือผู้ลงทุนมีอายุเข้าใกล้ 60 ปี

หลังจากที่เขียนบทความนี้เสร็จ ผมว่าผมเองก็คงต้องกลับไปเพิ่มอัตราการออมและเปลี่ยนแผนการลงทุนจากแผนผสมเดิมไปแผนความเสี่ยงสูงขึ้นซะแล้ว

 

โดย       สมิทธ์  พนมยงค์
             ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

กองทุน

ที่น่าสนใจ

SCBLEQ

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้น LOW VOLATILITY
(ชนิดจ่ายเงินปันผล)

SCBLEQA

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้น LOW VOLATILITY
(ชนิดสะสมมูลค่า)

SCBRMLEQ

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้น Low Volatility เพื่อการเลี้ยงชีพ

SCBGEARA

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล อิควิตี้ แอพโซลูท
รีเทิร์น (ชนิดสะสมมูลค่า)

SCBSPICYA

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์มิกซ์ สไปซี่ (ชนิดสะสมมูลค่า)

SCBINCA

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ อินคัม
(ชนิดสะสมมูลค่า)

SCBINCR

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ อินคัม
(ชนิดรับซื้อคืนอัตโนมัติ)

SCBROBOA

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลโรโบติกส์ (ชนิดสะสมมูลค่า)