ควรทำอย่างไรกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงาน??

25 กันยายน 2558

สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลาออกจากงาน มักจะมีคำถามว่า ควรทำอย่างไรกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดี ?

ตามที่ท่านทราบกันดีว่าเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เงินสะสม (ส่วนที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน) เงินสมทบ (ส่วนที่นายจ้างจ่ายให้) ผลประโยชน์เงินสะสม  และผลประโยชน์เงินสมทบ (สิ่งประโยชน์ที่งอกเงยจากการลงทุน)

เงินที่เป็นสิทธิของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแน่นอนคือ “เงินสะสม”และ”ผลประโยชน์เงินสะสม” ส่วน”เงินสมทบ”และ”ผลประโยชน์เงินสมทบ” จะได้รับก็ต่อเมื่อสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุนฯ เช่น มีอายุงานถึงเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น

เมื่อท่านออกจากงานจะมีวิธีในการจัดการกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรนั้น วันนี้เราขอนำเสนอทางเลือกสำหรับท่านสมาชิก 2 ทางคือ

1) ท่านสามารถขอรับเงินกองทุนทั้งก้อน โดยถือว่าเป็นการลาออกจากระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ

2) ยังไม่ประสงค์ที่จะรับเงินก้อนนี้ โดยขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน

 

  1. ถ้าท่านประสงค์ที่จะรับเงินจากกองทุนทั้งจำนวน

ข้อพึงระวังคือ หากสมาชิกลาออกจากกองทุนโดยที่ยังไม่เข้าเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นภาษี สมาชิกอาจจะเสียผลประโยชน์จากเงินสมทบที่จะได้รับไม่เต็มจำนวน อีกทั้ง เงินที่ได้รับจากกองทุนในส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินสมทบ จะต้องถูกหักภาษี ตามเงื่อนไขเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย โดยขอชี้แจงหลักเกณฑ์ในเบื้องต้นดังนี้

สมาชิกจะต้องตรวจสอบว่าเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสมาชิกทั้ง 3 ส่วน อันได้แก่ ผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินสมทบ เข้าเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ ซึ่งปกติเงินดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวนก็ต่อเมื่อสมาชิกออกจากงานโดยมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่เคยนำเสนอให้ท่านในวารสารครั้งที่แล้ว หรือกรณีเสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพเท่านั้น

ถ้าสมาชิกไม่ได้เข้าเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น เงินกองทุนทั้ง 3 จำนวนสามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้บางส่วนกรณีที่สมาชิกลาออกจากงานโดยอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป (หักค่าใช้จ่ายได้ 2 ส่วน 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน ที่เหลือหักค่าใช้จ่ายได้ครึ่งหนึ่ง และสามารถนำไปแยกยื่นภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อคำนวณภาษี) แต่ถ้าท่านมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปีจะต้องนำเงินทั้ง 3 ส่วนนั้นไปรวมกับรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี

  1.  ยังไม่ประสงค์ที่จะรับเงินก้อนนี้ โดย ”คงเงิน” ไว้ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การคงเงินเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการออมอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดช่วงแม้มีการเปลี่ยนงาน จึงมีการเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน

ที่นี้มาดูประโยชน์จากการคงเงิน

อายุสมาชิกต่อเนื่องเมื่อมีการย้ายงาน

ถ้าท่านได้งานใหม่กับนายจ้างที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในก่อนสิ้นระยะเวลาการคงเงิน ท่านสามารถขอให้โอนเงินจากกองทุนเดิมไปเข้ากองทุนใหม่ได้โดยท่านไม่จำเป็นต้องรับเงินออกจากกองทุน ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกยังไม่มีภาระภาษี เนื่องจากเงินที่ขอคงไว้ยังไม่ถือเป็นเงินได้ของสมาชิก

คงเงินไว้เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี

สมาชิกที่ต้องการคงเงินต่อเพื่อรออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามเงื่อนไขของทางกรมสรรพากร เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เพื่อรอตลาดปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

ตามที่ทราบกันว่าเงินที่อยู่ในกองทุนนั้นจะถูกนำไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ท่านกำหนด ซึ่งอาจมีทั้งกำไรและขาดทุน ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดแต่ละขณะ โดยเฉพาะการลงทุนในนโยบายตราสารทุน ซึ่งเมื่อตลาดอยู่ภาวะที่มีความผันผวน และส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นลดลง การคงเงินเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ท่านสามารถให้เงินในกองทุนยังคงลงทุนต่อเพื่อให้ตลาดมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นและค่อยนำเงินออกจากกองทุนต่อไป

ทั้งนี้ ท่านสมาชิกอาจต้องศึกษาข้อบังคับกองทุนของตน ว่ามีระยะเวลาที่สามารถคงเงินไว้ในกองทุนได้นานเท่าใด ซึ่งข้อบังคับต้องกำหนดเวลาไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ออกจากงาน และมีค่าธรรมเนียมในการคงเงินอยู่ที่ 500 บาทต่อปี นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้สมาชิกดังกล่าวยังคงสภาพป็นสมาชิกกองทุนต่อเนื่อง ทำให้เงินที่สมาชิกคงไว้ในกองทุนสามารถนำไปลงทุนและได้รับผลประโยชน์งอกเงยได้ และสมาชิกก็จะยังคงได้รับ ”ใบรับรอง/รายงานยอดเงินสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund Statement)” แจ้งยอดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตนคงเงินไว้ตามรอบปกติอีกด้วย