Worldwide Wealth by SCBAM : ก้าวต่อไป...ของโทรคมนาคมไทยหลังการควบรวมกิจการ

28 กุมภาพันธ์ 2565

         คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการประกาศการควบรวมกิจการระหว่าง 2 ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่อย่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ “ทรู” และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ “ดีแทค” เมื่อพฤจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ทางธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 2.75 แสนล้านบาท  แต่มีผู้ให้บริการเพียงแค่ 4 ราย โดยนับรวมบมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “NT” ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

         การประกาศสร้างความร่วมมือแบบเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทแม่ของทรู และTelenor Asia บริษัทแม่ของดีแทค หมายถึงการถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคม โดยทั้งสองกลุ่มบริษัทให้เหตุผลเบื้องหลังความร่วมมือนี้ว่ามาจากการที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมแบบดั้งเดิมสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อยมาก ขณะที่ทั้งสองบริษัทเองก็ต่างมีข้อจำกัดของตัวเอง ในขณะที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของเทคโนโลยีคลาวด์ ดิจิทัลคอนเทนต์และแพลตฟอร์ม OTT (Over-the-top คือ การให้บริการผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบเปิด) หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงเทคโนโลยีอวกาศ

กรณีศึกษาการควบรวมกิจการในต่างประเทศ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกหรือประเทศเดียวที่มีการควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่างก็เป็นทิศทางที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทั้งในทวีปอเมริกาที่มีการควบรวมกิจการระหว่าง Sprint กับ T-Mobile เมื่อปี 2563 ส่งผลให้เหลือผู้ให้บริการเพียง 3 รายใหญ่ ส่วนในทวีปเอเชียเองก็มีการควบรวมกิจการในมาเลเซียระหว่าง Celcom Axiata กับ Digi.Com เมื่อปี 2564 และระหว่าง Vodafone กับ Idea Cellular ในอินเดียเมื่อปี 2560ส่งผลให้เหลือผู้ให้บริการเพียง 4 รายใหญ่เช่นเดียวกัน

         เมื่อเรากลับมาพิจารณาสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย จะสามารถแบ่งเป็น 5 ตลาดค้าปลีกย่อย โดยตลาดที่ลูกค้ารายย่อยอย่างพวกเราอาจจะคุ้นเคยที่สุดและเป็นตลาดหลักที่ผู้ให้บริการให้ความสำคัญ นั่นก็คือ  ตลาดโทรศัพท์มือถือ และตลาดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่หรือที่เรียกกันว่าอินเตอร์เน็ตบ้าน โดยนับจากปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 4G จนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้บริการของตลาดโทรศัพท์มือถือเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็น 118 ล้านเลขหมาย และจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตที่เติบโตเกือบสองเท่าเป็น 12.75 ล้านเลขหมาย ซึ่งสวนทางกับอัตราค่าใช้บริการเฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการที่ลดลงถึงร้อยละ 6.0 และร้อยละ 22.1 ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าผู้ให้บริการต่างไม่สามารถปรับเพิ่มค่าใช้บริการเฉลี่ยที่เกิดจากการแข่งขันทางด้านราคาเพื่อดึงดูด และจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้เครือข่ายของตัวเอง ขณะที่ต้นทุนในการประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ยังอยู่ในระดับสูง อาทิ ต้นทุนในการขยายเสาโครงข่ายเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่และรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใบอนุญาตการใช้งานคลื่นความถี่ โดยเฉพาะคลื่น 900MHz ของไทยซึ่งมีราคาประมูลแพงที่สุดในโลกอีกด้วย (อ้างอิงจากฐานข้อมูล GSMA)


         แล้วทิศทางอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? หากการควบรวมกิจการระหว่างทรู - ดีแทคสำเร็จ สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงประการแรก คือ อันดับของผู้เล่นในอุตสาหกรรม โดยบริษัทควบรวมใหม่ระหว่างทรู - ดีแทค จะกลายเป็นผู้เล่นอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50.34 ขณะที่บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ “AIS” มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 46.84 และ NT มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.81 (อ้างอิงข้อมูลของ กสทช. ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564) ประการที่สอง อัตราการทำกำไรและกระแสเงินสดของกิจการในอุตสาหกรรมที่จะปรับตัวดีขึ้นจากการแข่งขันที่ลดลงจากการมีจำนวนผู้ให้บริการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเหลือเพียง 3 รายใหญ่ อาทิ การแข่งขันทางด้านราคาสินค้าและบริการ การแข่งขันในการประมูลใบอนุญาตใหม่ที่จะเป็นต้นทุนในการให้บริการในอนาคต เป็นต้น และประกาศสุดท้าย บริการใหม่ ๆ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ดึงดูดผู้บริโภคแทนการใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคาหรือการขายพ่วงคอนเทนต์แบบดั้งเดิม

         ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย... ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 5G อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมาภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์โดยภาคเอกชน ทั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติหลักของเทคโนโลยี 5G ที่เหนือกว่า 4G ทั้งด้านความเร็วสูง รองรับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมาก และมีความหน่วงในการรับ-ส่งข้อมูลที่ต่ำมาก ทำให้เทคโนโลยี 5G มีความเหมาะสมกับการใช้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมแบบอัจฉริยะ หรือการแพทย์ทางไกล มากกว่าการใช้งานสำหรับผู้บริโภคอย่างเราเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นการขยายธุรกิจของผู้ให้บริการโทรคมนาคมไปยังกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และองค์กร ประกอบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมต่างมุ่งปรับตัวสู่ Digital Transformation ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ผสมผสานในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีคลาวด์ Internet of Things (“IoT”) หรือโซลูชั่นช์ดิจิทัลต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ฐานข้อมูลผู้ใช้บริการที่มีขนาดใหญ่ยังช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถนำมาวิเคราะห์ข้อมูล และประมวลผลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ อาทิ บริการทางการเงินดิจิทัล หรือประกันได้ดีขึ้นอีกด้วย

         ในฐานะนักลงทุนในตลาดทุนและผู้บริโภคคนไทย เรามองว่าดีลการควบรวมครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้ปรับตัวดีขึ้น และมี New S-Curve มาต่อยอดการเติบโตรอบใหม่ในอนาคตได้

         

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​