Worldwide Wealth by SCBAM : ธรรมาภิบาลกับโซเชียลมีเดีย พลังเงียบแรงกดดันทางสังคม

25 สิงหาคม 2560

เมื่อปี 2011 หรือหกปีก่อน ผมได้มีโอกาสเดินทางไปงานสัมมนาใหญ่ประจำปีของ SIBOS ซึ่งเป็นงานรวมเทคโนโลยีการทำธุรกรรมทางการเงินจากธนาคารและบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ ทั่วโลก ฟังดูอาจเป็นเวลาที่ไม่นานนัก แต่เชื่อหรือไม่ว่าปี 2011 นั้น บริษัท Line ที่พวกเราใช้สื่อสารกันอย่างแพร่หลายทุกวันนี้ยังไม่ได้ก่อตั้งเลย คนใช้ Facebook ในประเทศไทยก็ยังมีไม่มาก ผมได้เข้าฟังสัมมนาหนึ่งที่ชื่อว่า Innotribe หรือแปลไทยก็คือ พวกเผ่าที่ชอบประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ๆ มีศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังใส่กางเกงขาสั้นกับเจ้าของสตาร์ทอัพใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์มานั่งร่วมประชุมอยู่กับนายธนาคารใส่สูทซึ่งเป็นภาพที่แปลกตาพอสมควรสำหรับเมื่อหกปีก่อน (เดี๋ยวนี้เริ่มมีให้เห็นกันเป็นปกติ)

ในห้องนั้นพวกเขาได้พูดถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทดแทนการทำธุรกรรมการเงินแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมไร้เงินสด Chabot หุ่นยนต์ที่ปรึกษาทางการเงิน crypto currency หรือเงินในโลกดิจิตอล อย่างเช่นที่เราอาจจะได้ยินชื่อ บิทคอยน์ เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นนับว่ายังใหม่มาก นายธนาคารส่วนใหญ่เองก็ยังมองว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นยังเป็นเรื่องไกลตัวและยังไม่น่าจะกลายเป็นกระแสหลักในเร็ววัน จึงหันไปให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงและแผนรองรับภัยธรรมชาติภายหลังเหตุการณ์สึนามิใหญ่ที่ญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน แต่เรื่องหนึ่งที่สะดุดความสนใจของผมในห้องสัมมนา Innotribe ก็คือ เรื่องเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียกับธรรมาภิบาลในสังคม 

ศาสตราจารย์ที่มานำเสนอเรื่องโซเชียลมีเดียกับธรรมาภิบาล ได้พยากรณ์ไว้ว่าโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับจริยธรรมและธรรมาภิบาลในสังคม ซึ่งในขณะนั้นนึกไม่ออกเลยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร แต่วันนี้เริ่มเห็นแล้วว่าแรงกดดันทางสังคมผ่านวิดีโอ YouTube และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ได้เริ่มมีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และยกระดับจริยธรรมของคนในสังคมขึ้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกเศรษฐีที่ขับรถชนคนแล้วหนี หรือต่อสู้คดีจนรอด ก็ทนแรงกดดันทางสังคมผ่านสื่อสมัยใหม่ไม่ไหวต้องหลบหน้าหลบตาไปอยู่ต่างประเทศ ดาราพิธีกรที่ลงไม้ลงมือกับคนขับมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวชนก็โดนสังคมกดดันจนต้องออกมารับผิดขอโทษ และยังมีคดีอื่นอีกมากมายที่สังคมตัดสินผ่านวิดีโอหรือโซเชียลมีเดีย ก่อนที่ศาลจะตัดสินจนเป็นอันสิ้นสุดเสียด้วยซ้ำ

การลงโทษและการกดดันทางสังคมนั้นได้ผลแพร่หลายกว้างขวางกว่าการที่ภาครัฐหรือตำรวจจะมานั่งไล่จับคนกระทำผิดเสียอีก เพราะความละอายและกลัวการขาดการยอมรับหรือแรงกดดันทางสังคมส่งผลเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็น preventive measure คือ ป้องกันไม่ให้กระทำเลย แทนที่จะเป็นการมาเอาผิดเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว แม้แต่เรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว เช่น การเมาแล้วขับ เมื่อก่อนเพื่อนๆ เวลาดื่มแล้วก็ขับรถกลับบ้านกันเป็นเรื่องปกติ แต่การที่เดี๋ยวนี้มีการรณรงค์อย่างแข็งขัน เจ้าหน้าที่ก็กวดขันมากขึ้น และแถมยังมีวีดีโอกรณีเมาแล้วหลุดออกมาประจานกันเนืองๆ เดี๋ยวนี้เวลามีงานเลี้ยงรุ่นที่รู้ว่าดื่มกันแน่ๆ ต้องมีการตกลงกันก่อนว่าใครจะเป็นคนไม่ดื่มและคอยขับรถส่งเพื่อนๆ กลับบ้าน

ในตลาดทุนก็เช่นเดียวกัน การที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทั้ง 11 แห่ง จึงได้ร่วมกันริเริ่มจัดตั้งกองทุนธรรมาภิบาลไทยขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นแรงกดดันทางสังคมอีกตัวหนึ่ง ที่จะช่วยกันทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยหันมาตระหนักถึงการมีธรรมาภิบาลที่ดี นอกจากการที่บริษัทในลิสท์รายชื่อ Thai IOD (CGR) Rating 4 ดาวขึ้นไป และได้เข้าร่วมโครงการการสร้างแนวร่วมภาคปฎิบัติของภาคเอกชนไทยต่อต้านทุจริต หรือ Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption (CAC) จะได้เม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันแล้ว รายชื่อของบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดก็จะประกาศบนเว็ปไซท์ของทางสมาคม  บริษัทที่ยังไม่ได้เข้าร่วม CAC หรือยังได้ไม่ถึง 4 ดาวก็จะถูกแรงกดดันทางสังคมจากนักลงทุนและผู้ถือหุ้นว่าทำไมยังไม่เข้าร่วม ทำไมยังไม่ผ่านมาตรฐานของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)  และเมื่อเกิดเหตุการณ์ทำผิดกล่าวโทษจากหน่วยงานกำกับดูแล กรรมการและผู้บริหารของบริษัทก็จะถูกแรงกดดันจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในการซักถาม ข้อเท็จจริง ความรับผิดชอบและแผนการแก้ไข ทำให้เรื่องไม่เงียบและเป็นบทเรียนทำให้บริษัทอื่นไม่กล้าทำอีก

พวกเราชาวบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ก็หวังว่านี่จะเป็นการเริ่มต้นของวัฒนธรรมที่ดีในตลาดทุนไทย ทำให้คอรัปชั่นในประเทศไทยค่อยๆ ทยอยลดลงเป็นลำดับ เพราะแรงกดดันทางสังคมนี่แหละที่เป็น preventive measure หรือการป้องกันการกระทำผิดในอนาคตอย่างดีที่สุด

 

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด