Worldwide Wealth by SCBAM : จับสัญญาณลงทุน..กับช่วงจังหวะอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ

23 มกราคม 2567

            รอบปีที่ผ่านมา การลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ ได้เผชิญกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาหลายสิบปี นับตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1980 ทำให้สินทรัพย์ลงทุน อย่างเช่น หุ้น  REITs และตราสารหนี้ มีความผันผวนอย่างมาก  อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ได้ปรับขึ้นมาสู่จุดสูงสุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ส่งผลให้สินทรัพย์ลงทุนต่างๆ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เห็นจากการปรับตัวของตลาดหุ้นโลก ที่ปรับขึ้นถึง 20.1% และหุ้นเติบโตสูง อย่างเช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ก็ปรับตัวขึ้นมากว่า 52.7%

            สำหรับทิศทางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไปนั้น  Fed ได้ส่งสัญญาณการจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจนจากการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งมีมุมมองว่าอาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2567 นี้ โดยคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปที่ระดับ 4.75% จากระดับปัจจุบันที่ 5.5% ซึ่งเท่ากับที่ Fed ได้เคยส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% อย่างไรก็ตาม หากดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่ Fed อาจจะไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งค่อนข้างมาก ซึ่งมาจากการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต Covid-19 และอัตราการว่างงานที่ยังคงทยอยปรับลดลง ในขณะที่ ก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในระยะข้างหน้าเช่นกัน นั่นคือ ความคาดหวังเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อที่ได้ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคพื้นฐานส่วนบุคคล (Core PCE Price Index) ที่ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.1% ซึ่งอาจส่งผลให้ Fed มีความยืดหยุ่นที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในระยะถัดไปได้เช่นกัน

            สำหรับในเชิงของการลงทุนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเปลี่ยนทิศแล้ว การจัดพอร์ตการลงทุนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุด และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่อเนื่องนั้น จากข้อมูลในอดีตพบว่า สินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะดังกล่าว ซึ่งจากข้อมูลที่นับตั้งแต่ปี 1970 อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้สหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะยังคงปรับลดลงต่อเนื่องไปจนถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ดังนั้น ในสภาวะปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงนั้น นักลงทุนสามารถเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ได้ โดยเฉพาะกับการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้นหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นในบางจังหวะ รองลงมาจากพันธบัตรรัฐบาล นั่นคือ หุ้นกู้ภาคเอกชนคุณภาพดี และ REITs ซึ่งนอกจากจะได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มเมื่อเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแล้ว ผลประกอบการของบริษัทที่มีการใช้เงินกู้เป็นส่วนหนีงในการขยายกิจการ หรือดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะ REITs ยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนการกู้ยืมที่มีแนวโน้มจะลดลงในภาวะอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง เพื่อหาผลตอบแทนจากการลงทุนกับตราสารหนี้ ที่สะท้อนข่าวดีจากปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาได้


            สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารทุน หรือ ตลาดหุ้น พบว่า ภาพรวมตลาดหุ้นมักมีทิศทางไม่ค่อยชัดเจนในช่วง 3 เดือนก่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed หากแต่ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากที่ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ตลาดหุ้นก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์  Utilities Communication Services และ เทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งสำหรับการลงทุนกับตลาดหุ้นนั้น อาจพิจารณากระจายการลงทุนไปยังกลุ่มหุ้นคุณภาพ (Quality Stock) ซึ่งจากข้อมูลที่รายงานโดย Morningstar พบว่า หุ้นคุณภาพจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในทุกสภาวการณ์ เนื่องจาก เป็นกลุ่มบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ซึ่งมักจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ซึ่งรวมถึง การลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยอาจต้องพิจารณาถึงความสามารถในการสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอตามเทรนด์ในอนาคตควบคู่ไปด้วย เช่น  AI Boom, Digital Transmission, Semiconductor หรือ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์แบบใด จะต้องคอยติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยหรือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการลงทุนควบคู่ไปด้วย เช่น ความเสี่ยงทางการเมือง  ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ ผู้ลงทุนควรกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนอีกทางหนึ่งด้วย  

 

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​