Worldwide Wealth by SCBAM : เทคโนโลยีการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิตอล

20 ธันวาคม 2564

         งานหลักอย่างหนึ่งของผู้จัดการกองทุนคือการจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีภายใต้ความเสี่ยงที่ถูกควบคุม ผู้จัดการกองทุนจึงจำเป็นต้องจับตาการมาของสินทรัพย์ประเภทใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน โดยหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีการเติบโตและได้รับความนิยมสูงมากขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และมีการคาดการณ์อนาคตว่าสินทรัพย์นี้อาจไปไกลถึงขั้นมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน โดยสินทรัพย์ที่กล่าวมานี้เรียกว่า ”สินทรัพย์ดิจิตอล (Digital Asset)”

         โดยตั้งแต่อดีต ระบบการเงินของแต่ละประเทศล้วนมีรัฐบาลกลางเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินและกำกับกติกาเองทั้งหมด จนกระทั่งปี 2009 ผู้ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโต (Satoshi Nakamoto) ได้สร้าง Bitcoin ขึ้นมาโดยหวังให้เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ใช้เก็บรักษามูลค่า ส่งผ่านมูลค่า และแลกเปลี่ยนมูลค่าให้กับคนอื่น เป็นระบบนิเวศน์แบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized Ecosystem) ที่สามารถดูแลตัวเองได้โดยปราศจากผู้ควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยผ่านกลไกการทำงานของระบบบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งทุกอย่างในระบบจะถูกโปรแกรมไว้ล่วงหน้า เป็นกฎกติกาที่ทุกคนสามารถตรวจสอบและคาดการณ์ได้ โดยธุรกรรมทั้งหมดในระบบจะเปิดเผยโปร่งใสสู่สาธารณะเพื่อให้ตรวจสอบได้ และพบว่าผ่านมากว่าหนึ่งทศวรรษก็ยังไม่มีใครสามารถโกง (hack) ระบบนี้ได้ จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของระบบนี้ในระดับสูงมาก และนำมาสู่การพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้สกุลเงินดิจิตอลทำงานได้มากกว่าการเป็นแค่สกุลเงินสกุลหนึ่งเท่านั้น

         อาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนนี้เองคือหัวใจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Bitcoin ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในระดับสูง จนทำให้สถาบันและองค์กรอิสระจำนวนมากต่างแข่งกันออกเหรียญที่พึ่งพาเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในด้านต่าง ๆ เช่น เหรียญที่ใช้แทนสัญญากู้ยืมเงิน สิทธิในที่ดิน งานศิลปะ อสังหาริมทรัพย์ หรือเหรียญที่ใช้แทนทรัพย์สินแบบเดิม อาทิ หุ้น และสกุลเงิน USD เป็นต้น จึงทำให้เกิดการขยายนิยามจาก “สกุลเงินดิจิตอล” ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “สินทรัพย์ดิจิตอล” ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยสูง แต่ภายใต้กระบวนการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิตอลในบล็อคเชนเองก็ยังมีจุดสำคัญที่พึงต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน นั่นคือหากใครได้ตัวเลข Private Key ซึ่งเป็นรหัสลับอันแสดงสิทธิ์ของบัญชีไป คนนั้นก็จะสามารถส่งคำสั่งโอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินทั้งหมดภายใต้บัญชีนั้นไปยังบัญชีอื่นได้ ดังนั้นการเก็บรักษา Private Key ให้ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจอย่างยิ่ง และเป็นพื้นฐานที่คนเล่นสินทรัพย์ดิจิตอลควรต้องรู้ในเบื้องต้น

         โดยการเก็บสินทรัพย์ประเภทนี้ มีรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “การเก็บใน Hot Wallet” คือ การเก็บไว้ที่ตลาดต่าง ๆ โดยตรงเพื่อให้พร้อมเทรดได้ทันที เช่น Bitkub, Binance หรือเก็บไว้ในกระเป๋าแบบซอฟท์แวร์ (Software Wallet) เช่น Metamask หรือ Terra Station ซึ่งอำนวยความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยนบนตลาดแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized Exchange) โดยข้อดีของการเก็บใน Hot Wallet คือเราสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ทันที เพราะกระเป๋าประเภทนี้จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้พร้อมใช้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามจุดอ่อนที่ตามมาพร้อมกับความสะดวกก็คือ การที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงกระเป๋าประเภทนี้ได้โดยตรงนั้น ทำให้มีโอกาสที่ hacker จะเข้ามาขโมย Private Key จากกระเป๋าได้ง่าย เช่น แอบดูดข้อมูลในเครื่องเราออกไปตรง ๆ หรือแอบฝังโปรแกรมดักจับการ copy paste ไว้ในเครื่อง

         ดังนั้นจึงมีผู้คิดกระเป๋าอีกแบบเรียกว่า “Cold Wallet” คือ กระเป๋าที่เก็บรักษา Private Key โดยไม่มีส่วนใดเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเลย จึงค่อนข้างปลอดภัยจากการถูกขโมยข้อมูลรหัสไปได้ สำหรับรูปแบบของ Cold Wallet ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะกระเป๋าแบบฮาร์ดแวร์ (Hardware Wallet) เช่น Ledger Nano, Trezor หรือ D’Cent โดยกระเป๋าประเภทนี้มักจะออกแบบมาให้หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่ออุปกรณ์กับอินเตอร์เน็ต และในกรณีที่ต้องการความปลอดภัยมาก ๆ ก็อาจออกแบบกระเป๋าที่ไม่มีการเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิล, Wifi หรือ Bluetooth กับคอมพิวเตอร์ได้

         ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นธุรกิจกองทุนสินทรัพย์ดิจิตอลเกิดขึ้นในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็หนีไม่พ้นกฎพื้นฐานที่ต้องเริ่มจากพื้นฐานการเก็บรักษา Private Key ของกองทุนให้ปลอดภัยด้วยเช่นกัน ในกรณีนี้จะมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิตอล (Digital Asset Custody) ดูแลกระบวนการจัดเก็บการโอนย้ายทรัพย์สินไปยังบัญชีต่าง ๆ แบบปลอดภัยสูงสุด โดยตัวอย่างของผู้ดูแลสินทรัพย์ดิจิตอลชั้นนำ ได้แก่ Coinbase, Anchorage Digital, BitGo หรือ Gemini เป็นต้น

         โดยผู้ดูแลแต่ละรายต่างก็มีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันในการเก็บรักษา Private Key เช่น การใช้อุปกรณ์แขนกลในการหยิบรหัสที่เก็บรักษาในห้องนิรภัยอีกชั้น (Hardware Security Modules) โดยไม่มีมนุษย์เข้าถึงได้, การใช้ลายเซ็นอนุมัติจากผู้อนุมัติหลายคน (Multi Signature), วิธีแยกรหัสลับออกเป็นส่วน ๆ เพื่อไม่ให้มีใครถือรหัสครบทั้งหมดในคนเดียว เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ให้บริการดูแลสินทรัพย์บางรายก็อาจมีการให้บริการเกี่ยวกับการเทรด ฝาก หรือถอนครบถ้วนในที่เดียว ทำให้นักลงทุนสถาบันสามารถเข้าถึงตลาดสินทรัพย์ดิจิตอลได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้บริษัทจัดการลงทุนออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ ๆ ที่ให้ผลตอบแทน ผ่านสินทรัพย์ดิจิตอลเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

         ฟฟฟฟ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​