Worldwide Wealth by SCBAM : 2567 ปีของ ‘ตราสารหนี้’ ทางเลือกการลงทุนในจังหวะอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่จุดสูงสุด

16 พฤศจิกายน 2566

            ‘ตราสารหนี้’ หนึ่งในสินทรัพย์ที่ถูกจัดอันดับว่ามีความเสี่ยงต่ำ และถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนค่อนข้างมั่นคง สามารถใช้เป็นตัวช่วยปกป้องเงินต้นและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนให้กับพอร์ตลงทุนได้ดี หากแต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจถือได้ว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีเท่าไหร่สำหรับสินทรัพย์กลุ่มนี้ ด้วยมีหลายเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบจนทำให้ตราสารหนี้เกิดความผันผวน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของภาวะเงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงลูกโซ่จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เข้ามาส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนบางท่านอาจมีคำถามถึงการลงทุนกับตราสารหนี้ ช่วงหลังจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร?

            ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ Bond Yield ของหลายประเทศปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.50% จากการประชุมครั้งล่าสุด ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยของ Fed สะท้อนถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่อาจมีแนวโน้มกลับทิศเป็นขาลงในปี 2567 ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยไปด้วย ซึ่งหากได้พิจารณาจากปัจจัยของอัตราดอกเบี้ยระดับสูง และทิศทางของเงินเฟ้อที่ทยอยปรับลดลง ดังนั้น นักลงทุนหลายคนจึงเริ่มมองถึงโอกาสของการลงทุนกับ ‘ตราสารหนี้’ ในปี 2567 ว่าจะกลับมาเป็นปีแห่งการลงทุนในตราสารหนี้หรือยัง?

            อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาณภาพรวมของเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณว่าอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง โดยทาง IMF ได้คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลกจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.9 สำหรับปี 2567 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2566 ที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 แต่หากพิจารณาในอีกมุมมองหนึ่ง จะพบว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนตราสารหนี้ ในจังหวะการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่ขยับขึ้นมาสู่ระดับสูงสุด ที่สามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Capital Gain) จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงในภายหน้า ประกอบกับ ภาพของเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะช่วยจำกัดความเสี่ยงที่จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก  สำหรับประเทศไทยนั้น  ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับลดราคาพลังงาน และมาตรการลดค่าครองชีพจากภาครัฐบาล ซึ่งจะกดดันเงินเฟ้อประเทศไทยให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยปัจจัยเหล่านี้จะสนับสนุนให้การลงทุนตราสารหนี้ในปี 2567 สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ  อาทิเช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การปรับตัวของราคาน้ำมันโลกที่ส่งผลกับทิศทางเงินเฟ้อ และปัจจัยภายในประเทศที่เป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจส่งผลโดยรวมต่อราคาอาหารในประเทศ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาจจะมีผลลัพธ์ที่จะผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น  โดยหากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะกดดันให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ขยับขึ้น ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ และ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ปรับลดลงได้


            การลงทุนตราสารหนี้ ควรพิจารณาให้ความสำคัญในการบริหารกระจายความเสี่ยงพอร์ตตราสารหนี้ โดยเครื่องมือในการลงทุนตราสารหนี้มีหลากหลาย ทั้งการลงทุนโดยตรงในพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้บริษัทเอกชน รวมถึงการลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้งตราสารหนี้ในประเทศไทยและตราสารหนี้ต่างประเทศทั่วโลก โดยการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจะสามารถได้รับผลประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงของประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือประเทศทางยูโรโซน รวมถึงการกระจายความเสี่ยงทางด้านเครดิตโดยกระจายการลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ไทยถือว่าอยู่ในห้วงเวลาที่มีความน่าสนใจและเป็นทางเลือกที่ดีที่จะให้ผลตอบแทนในระดับสูง โดยประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ความเสี่ยงระยะข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำ ในส่วนของการลงทุนหุ้นกู้บริษัทเอกชนไทย ก็เป็นหนึ่งสินทรัพย์ที่น่าสนใจ จากการมีส่วนชดเชยความเสี่ยง หรือ Credit spread ที่จะเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุน โดยระดับ Credit spread ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จากช่วงที่ผ่านมา มีกรณีบริษัทบางแห่ง เกิดการผิดนัดชำระหนี้ นักลงทุนจึงควรพิจารณาคัดเลือกบริษัทผู้ออกตราสารอย่างระมัดระวัง โดยต้องศึกษาและเข้าใจประวัติ ความเป็นมาของธุรกิจ ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ ความสามารถในการสร้างกำไร การจัดการกับเงินทุนหรือกำไร รวมถึง ความสามารถในการชำระหนี้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว รวมถึงการกระจายความเสี่ยงเพื่อปกป้องพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ให้มีความมั่นคง และได้รับผลตอบแทนตามที่นักลงทุนคาดหวังในปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีในการลงทุนตราสารหนี้ที่จะได้รับอัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับสูงในรอบหลายปี  

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​