Worldwide Wealth by SCBAM : รู้จัก US Senior Loan ทางเลือกใหม่น่าลงทุน เมื่อ Fed ยังไม่คิดลดดอกเบี้ย

16 พฤษภาคม 2567

            ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การลงทุนในตราสารหนี้นอกตลาดหรือ Private Credit ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากจากนักลงทุนทั่วทั้งโลกเนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป ในขณะที่ความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุนต่ำกว่าเพราะราคาสินทรัพย์นอกตลาดไม่ได้เคลื่อนไหวรวดเร็วสะท้อนเหตุการณ์และปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเหมือนการลงทุนตราสารหนี้ที่ซื้อขายในตลาด Public Market ทั้งนี้ สินทรัพย์การลงทุนชนิดหนึ่งในกลุ่ม Private Credit ที่นักลงทุนทั่วโลกนิยมและมีการลงทุนกันอย่างแพร่หลายมายาวนานที่จะขอแนะนำให้ท่านนักลงทุนไทยได้ทำความรู้จัก คือ  Bank Loan

            ในโลกของการทำธุรกิจ เป็นที่ทราบกันดีว่าเงินทุนเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจนั้นๆ อยู่รอดหรือประสบความสำเร็จเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งหนึ่งในวิธีการระดมทุนแบบดั้งเดิมที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมทั่วโลก คือ การกู้ยืมเงินหรือการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน ที่เราเรียกว่า Bank Loan ซึ่งสามารถจำแนกได้อีกหลายประเภทด้วยคุณลักษณะต่างๆ เช่น สิทธิในการเรียกร้องหรือลำดับในการรับชำระหนี้ (Priority Claim) การมีหลักประกันค้ำหรือไม่ เป็นต้น

            ทั้งนี้ สินเชื่อ Bank Loan ประเภทหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นและถูกจัดชั้นอยู่ในส่วนยอดสุดของโครงสร้างเงินทุน (Capital Structure) ของบริษัทซึ่งมีสิทธิในการเรียกร้องเป็นกลุ่มแรก นั่นคือ สินเชื่อไม่ด้อยสิทธิแบบมีหลักประกัน (Senior Secured Loan) ที่หลายบริษัทเลือกเป็นวิธีการระดมทุนเพื่อจุดประสงค์หรือธุรกรรมที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เช่น การรีไฟแนนซ์ (Refinance) การควบรวมกิจการ (Mergers & Acquisitions) หรือการเข้าซื้อหุ้นของกิจการหนึ่งด้วยเงินกู้ยืม (Leveraged Buyouts) เนื่องด้วยเป็นวิธีระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าวิธีอื่น ทั้งนี้ ด้วยวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 80 จากเดิมที่ธนาคารมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อโดยตรง เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการเงินทุนและงบดุลของธนาคาร ธนาคารปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดหาเงินทุน รวมถึงการเป็นผู้จัดจำหน่าย Senior Secured Loan ให้กับนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือกองทุน ETF ประกอบกับการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นตัวเร่งทำให้มูลค่าตลาดสินเชื่อไม่ด้อยสิทธิทั่วโลกนี้มีการเติบโตต่อเนื่องจนปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ที่มา: Preqin ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 66) และมีสภาพคล่องซื้อขายในตลาดรองสูงเทียบเท่ากับตลาด US High Yield เรียบร้อยแล้ว

            นอกจากสภาพคล่องที่ใกล้เคียง และอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้กู้ที่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ต่ำกว่าระดับ Investment Grade (โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ BB หรือต่ำกว่า) เช่นเดียวกับ High Yield Bond แล้ว Senior Secured Loan ยังมีจุดเด่นและข้อแตกต่างจาก High Yield Bond ในหลายแง่มุม อาทิ Senior Secured Loan ผู้ลงทุนหรือผู้ให้กู้จะจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิทำให้มีสิทธิในการได้รับชำระหนี้ก่อน อายุของสัญญาประมาณ 3 – 5 ปีจึงมีอายุของตราสารที่สั้นกว่า มีรูปแบบการจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัวส่งผลให้มี Effective Duration ที่ต่ำใกล้เคียง 0  และท้ายที่สุดการมีหลักประกัน เช่น สินค้าคงคลัง ที่ดิน โรงงานและอุปกรณ์ หรือบัญชีลูกหนี้ ค้ำสัญญาสินเชื่อ จึงทำให้กรณีเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้  Senior Secured Loan มีอัตราการได้รับชำระเงินคืนหรือ Recovery Rate ที่สูงกว่า ทั้งนี้ ด้วยภาวะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสคงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังขยายตัว อัตราการผิดนัดชำระหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำไม่น่ากังวล การลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Senior Secured Loan ไว้เป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตการลงทุนเพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยสม่ำเสมอจึงเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้

            แต่สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรทราบและพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน คือ การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดแบบ Senior Secured Loan นี้เป็นการลงทุนที่อาจมีข้อจำกัดมากกว่าการลงทุนในตลาดทุนทั่วๆไป โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านการเข้าถึงข้อมูลของตัวบริษัทผู้กู้ การวิเคราะห์ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ การพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขของสินเชื่อ รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหลักประกันและมูลค่าของสินเชื่อนั้นๆ ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยทีมงานผู้เชี่ยวชาญการลงทุนที่มีประสบการณ์การบริหารเงินลงทุนใน Senior Loans โดยเฉพาะ มีความได้เปรียบในการเข้าถึงข้อมูล พร้อมทีมงานขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยนักวิเคราะห์ด้านเครดิตโดยเฉพาะซึ่งมีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงของบริษัทในแต่ละภาคธุรกิจและครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย

            บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM จึงเปิดเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Senior Loan ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือ SCBSNLOAN ) กองทุน Complex Fund ซึ่งเป็นกองทุนรวม Feeder Fund ลงทุนผ่านกองทุนหลักที่ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้า Private Bank ทั้งในฮ่องกงและสิงคโปร์ คือ กองทุน Invesco US Senior Loan Fund บริหารจัดการโดย Invesco Senior Secured Management, Inc. ผู้จัดการการลงทุนใน Senior Loans อันดับต้นๆของโลก กองทุนเน้นลงทุนในสินเชื่อไม่ด้อยสิทธิประเภท First Lien (สิทธิในการเรียกร้องเป็นลำดับแรก) แบบมีหลักประกันคุณภาพดีในสหรัฐฯ ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง ทำให้ SCBSNLOAN เป็นกองทุน Private Credit กองทุนแรกในไทยที่สามารถเปิดรับคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ แตกต่างจากกองทุน Private Credit อื่นๆที่นักลงทุนไม่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนเป็นรายวันได้

            กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Senior Loan ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (SCBSNLOAN) มีความเสี่ยงกองทุนระดับ 8+ / กองทุนมีความเสี่ยงจากการลงทุนในสินเชื่อไม่ด้อยสิทธิ (Senior Loans) นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้อย่างจำกัด และมีข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือน้อยกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่มีตลาดรองรับ และมีข้อมูลเปิดเผยเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ สินเชื่อไม่ด้อยสิทธิจะไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ หรือผู้ออกตราสารโดยสถาบันชั้นนำที่เป็นอิสระ จึงทำให้นักลงทุนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือจากผู้จัดการการลงทุนเท่านั้น  

            กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุน หรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน

            สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์จำกัด โทร.02-777-7777 และผู้สนับสนุนการขายทุกราย สนใจเข้าลงทุนติดต่อที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนส่วนบุคคล ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์และผู้สนับสนุนการขายทุกราย

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​