Worldwide Wealth by SCBAM : ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อ "ภัยร้าย" ของคนรวย

15 พฤษภาคม 2560

         เมื่อก่อนตอนผมยังเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อ หรือที่ภาษาทางวิชาการเรียกว่า ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ นั้นเกิดขึ้นน้อยมาก นานๆ ครั้งจึงจะเห็นธนาคารกลางใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างในยามที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน และก็มักจะใช้นโยบายดังกล่าวเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็จะหยุดใช้นโยบายนี้

         แต่ช่วงสิบปีหลังมาเราจะพบว่าธนาคารกลางในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป ต่างก็ใช้นโยบายดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากวิกฤตแล้วแต่ก็ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ยังคงปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนที่มีเงินเหลือฝากเหลือออมมากๆ ค่าเงินนั้นก็จะลดน้อยด้อยลงเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับ เลยมานั่งคิดวิเคราะห์ว่าทำไมธนาคารกลางหลายแห่งทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ถึงปฎิบัติแบบนั้น 

         ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้ว่าธนาคารกลางระดับโลกนั้น นอกจากจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาเอกหรือศาสตราจารย์แล้วยังเป็นนักปรัชญาที่ก้าวข้ามขอบเขตของเศรษฐศาสตร์ไปถึงสังคมวงกว้างที่เชื่อมโยงกันหมด เพราะปัญหาที่พวกท่านเหล่านั้น เผชิญและต้องแก้ไขมักจะเป็นปัญหาใหม่ๆ ที่ต้องการการคิดนอกกรอบเพื่อแก้ปัญหา และปัญหาของสังคมในประเทศพัฒนาแล้วที่คล้ายกัน ก็คือ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุที่เศรษฐกิจโตช้าลง แต่ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนรวยซึ่งส่วนมากเป็นคนแก่ผู้สูงอายุ 

         การที่ธนาคารกลางทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ หรือปล่อยให้เงินเฟ้อโตเร็วกว่าดอกเบี้ยนั้น ก็เสมือนกับการเก็บภาษีความมั่งคั่ง หรือภาษีคนรวยนั่นเอง เพราะคนรวยที่มีเงินเก็บมากกว่าก็จะมีผลกระทบจากการด้อยค่าของเงินมากกว่าคนที่ไม่มีเงินออมเงินเก็บ  ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นเป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลพยายามแก้ไข ภาษีก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เก็บจากคนรวยมาช่วยบริการสาธารณะสังคมโดยรวม ทีนี้ภาษีหลักๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เริ่มมีข้อจำกัด ภาษีเงินได้ในหลายประเทศพัฒนาแล้วสูงจนคนไม่อยากทำงาน ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีที่เรียกเก็บจากการจับจ่ายบางประเทศก็เรียกว่าภาษีซื้อ หากเก็บสูงมาก ราคาของแพงขึ้น คนไม่จับจ่ายใช้สอยก็จะทำให้เศรษฐกิจก็จะพาลชะลอตัวทรุดลงไปอีก 

         “แนวคิดของการเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่ง หรือภาษีคนรวยนั้นมีการคิดกันมาหลายครั้งแต่ยังไม่มีการใช้อย่างจริงจัง เพราะในโลกโลกาภิวัตน์ที่เงินทุนเคลื่อนไหวเสรี รัฐบาลก็เกรงว่าคนรวยจะขนเงินหนีไปลงทุนต่างประเทศ แต่ที่ดูจะใกล้เคียงกับภาษีความมั่งคั่งที่สุดก็คงเป็นภาษีมรดกที่เรียกเก็บจากทายาทของผู้ตาย แต่ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้คนอายุยืนขึ้น ทำให้การส่งผ่านมรดกช้าลงและการเรียกเก็บภาษีชนิดนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก การใช้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อหรือดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนั้นจึงเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความมั่งคั่งไปสู่ประชากรส่วนใหญ่ที่ยังไม่มี”

         พอฟังถึงตรงนี้ท่านที่ทิ้งเงินไว้ในบัญชีเงินฝากหลายท่านอาจเริ่มเป็นกังวล แต่ในความเป็นจริงแล้วท่านยังมีทางเลือกในการออมโดยผ่านการลงทุนในรูปแบบอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวม โดยการลงทุนนั้นนอกจากจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแล้วยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะบริษัทที่มาระดมทุนก็จะนำเงินลงทุนของท่านไปลงทุนในโครงการต่างๆ ที่สร้างผลประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจในภาครวม ฉะนั้น ถ้าเราไม่อยากเสียภาษีความมั่งคั่งนี้แล้ว เราก็อย่านำเงินมาทิ้งไว้ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อกันเลย ต้องรู้จักนำเงินไปลงทุนและที่สำคัญต้องกระจายการลงทุนด้วยนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด