Worldwide Wealth by SCBAM : “จีน-ญี่ปุ่น” ตลาดหุ้นพี่ใหญ่แห่งเอเชีย กับเส้นทางความท้าทายที่สวนทาง!!!

15 กุมภาพันธ์ 2566

         เริ่มต้นปี 2566 กับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นที่ดูจะเป็นบวกมากขึ้น จากปัจจัยที่เคยกดดันตลาดเริ่มคลายตัวลง ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีนที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม Covid-19 และเปิดประเทศเร็วกว่าคาด ประกอบกับระดับเงินเฟ้อของหลายประเทศ ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มชะลอตัวลง สร้างความคาดหวังว่าธนาคารกลางหลัก คือ Fed รวมถึง ธนาคารกลางบางแห่งในเอเชีย จะชะลออัตราเร่งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นได้ดี โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน หลังจากปีที่แล้วดัชนีหุ้นจีนปรับตัวลงมาค่อนข้างแรง แต่ต้นปีนี้ ฟื้นตัวกลับมาค่อนข้างดี ด้วยปัจจัยหนุนสำคัญ คือ การเปิดเมือง-เปิดประเทศ (China Reopening)

         ช่วงนี้ นักลงทุนน่าจะมีคำถามว่า ตลาดหุ้นจีนที่ฟื้นตัวขึ้นมาเร็วและแรง จะมีโอกาสขึ้นไปต่อได้หรือไม่ ? สำหรับมุมมองของ SCBAM หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน คงตอบได้ว่า ตลาดหุ้นจีนยังมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลายประการที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดปรับตัวขึ้นได้ต่อ โดยเฉพาะการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากยกเลิกมาตรการ Zero Covid Policy ทั้งนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อของจีนที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เช่น การปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR), ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ยังคงทำได้ต่อเนื่อง ส่วนฝั่งรัฐบาลจีน เราคาดว่าจะมีการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปีที่แล้ว กลับมาฟื้นตัวได้ตามที่ทางการจีนตั้งเป้าหมายไว้

         ปัญหาหรือความกังวลที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการคุมเข้มกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนตามนโยบายการเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น การผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ผ่าน 16 มาตรการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ และกระตุ้นอุปสงค์ของผู้ซื้อบ้าน ส่วนกลุ่มเทคโนโลยี มีการผ่อนคลายการออกใบอนุญาตเกมส์ใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และล่าสุดทางการจีนกลับมาอนุญาตให้ Ant Group บริษัทในเครือ Alibaba สามารถระดมทุนเพิ่มได้อีกครั้ง นับเป็นสัญญาณบวก ว่าทางการจีน เริ่มผ่อนปรนการจัดระเบียบลงบ้างแล้ว ด้านการลงทุนในตลาดหุ้นจีน เมื่อพิจารณาระดับมูลค่าหรือ Valuation ของตลาดหุ้นจีนผ่าน P/E พบว่า ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพงจนเกินไป รวมทั้ง แนวโน้มประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์ในตลาด เริ่มกลับมามีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้เรามองว่า ตลาดหุ้นจีนยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ในระยะข้างหน้า


         ตลาดหุ้นพี่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น ที่จะพบกับความท้าทายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมาโดยตลอดนั้น กลับเริ่มมีการส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น โดยการประชุม BOJ เมื่อเดือน ธ.ค.2565 สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี กว้างขึ้นเป็น -0.5% ถึง +0.5% จากกรอบเดิม -0.25% ถึง +0.25% ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือ ยกเลิกการทำ Yield Curve Control แต่การขยายกรอบการเคลื่อนไหวของ Bond Yield นักลงทุนมองว่า เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณเตรียมดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว (Tightening) ของ BOJ ในระยะถัดไป ตัวแปรสำคัญ คือ ทิศทางเงินเฟ้อที่ปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 4% สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% ในขณะที่ ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นคนปัจจุบัน คือ คุณ Kuroda กำลังจะหมดวาระในเดือน เม.ย. นี้ เพิ่มความไม่แน่นอนเรื่องทิศทางนโยบายการเงินในปีนี้ด้วยเช่นกัน ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ความผันผวนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งเราประเมินว่า ในระยะถัดไป มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกัน คือ BOJ จะกลับมาเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ในขณะที่ Fed ชะลออัตราการขึ้นดอกเบี้ยหรือหยุดขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินเยนของญี่ปุ่น มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่แคบลง เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นที่มีรายได้จากต่างประเทศหรือพึ่งพาการส่งออกสูง อยู่ค่อนข้างมาก

         ดังนั้น ภาพรวมการลงทุนในปี 2566 ของสองตลาดหุ้นพี่ใหญ่ฝั่งเอเชีย คือ จีน และญี่ปุ่น น่าจะอยู่บนเส้นทางเดินที่สวนกัน จากตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เคยให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นจีนเมื่อปีที่แล้ว จากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและผลบวกจากการอ่อนค่าของเงินเยน แต่ในปีนี้ กลับมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น สวนทางกับ จีนที่ยังผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการควบคุม Covid-19 อย่างเข้มงวด แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานระยะยาวของทั้งสองประเทศยังมีความแข็งแกร่ง แต่หากพิจารณาภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นสำหรับปีนี้ เชื่อว่า ตลาดหุ้นจีน น่าจะมีปัจจัยบวกสนับสนุนที่เด่นชัดกว่า

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นการให้ข้อมูลด้านมุมมองการลงทุนเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​