Worldwide Wealth by SCBAM : เมื่อเกิด Brexit แล้วทำอย่างไรต่อไป

12 กรกฎาคม 2559

       หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องเด่นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเฝ้าจับตามอง คงหนีไม่พ้นการทำประชามติของสหราชอาณาจักร หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า Brexit  คือการที่ประเทศอังกฤษจะอยู่ร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่  และคำว่า Brexit ก็กลายเป็นศัพท์ใหม่ฮิตติดหู  ไม่ว่าไปที่ไหนหรือทำอะไรก็ได้ยินแต่คนพูดถึงคำนี้

       อย่างที่โบราณว่าไว้ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เหตุการณ์ที่หลายคนไม่เคยนึกฝันก็ได้เกิดขึ้น  การลงประชามติของชาวอังกฤษสรุปผลออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป และหลังจากนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกก็ได้ปรับตัวลงเกือบ 5% ภายในวันเดียว และที่ยิ่งกว่านั้นค่าเงินปอนด์ที่แข็งแกร่งมาแทบจะตลอดกาลปรับตัวอ่อนค่าลงฮวบมากกว่า 8% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันเดียวกัน

       หลายท่านคงมีคำถามขึ้นมาในใจว่า แค่ผลประกาศออกมาว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป โลกยังดูโกลาหลขนาดนี้ แล้วต่อจากนี้ไปจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอะไรที่จะเกิดขึ้นกันอีกล่ะนี่

       จริงๆ แล้วสถานการณ์มันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นนะครับ เพราะว่าผลการทำประชามติที่ออกมานั้นยังไม่ถือว่าประเทศอังกฤษจะต้องออกจากสหภาพยุโรป แต่สิ่งที่จะทำให้ประเทศอังกฤษพ้นจากสมาชิกสภาพอย่างเป็นทางการได้นั้นเรียกว่า Article 50 of the Treaty of Lisbon ครับ

       แล้วมันคืออะไรหล่ะ! Treaty of Lisbon ถูกกำหนดขึ้นเป็นกฎหมายเมื่อเดือนธันวาคม 2552 โดยการลงนามรับรองร่วมกันของรัฐบาลประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สหภาพยุโรปมีความเป็นประชาธิปไตย มีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และใน Article 50 ของ Treaty of Lisbon ได้มีระบุกฏเกณฑ์โดยย่อของการลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปเอาไว้ครับ

       แต่เอาเข้าจริงขั้นตอนการลาออกจากสมาชิกภาพต้องทำยังไงบ้าง ไม่มีใครรู้หรอกครับ เพราะก็ยังไม่เคยมีประเทศไหนในโลกขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมาก่อน  แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่าต้องรอให้ประเทศอังกฤษมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก่อน หลังจากที่ David Cameron นายกรัฐมนตรีคนเก่าลาออกไป  แล้วจึงให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นผู้เสนอใช้ Article 50 ต่อไป ซึ่งขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการเพื่อลาออกจากสมาชิกภาพนั้น หลายคนประเมินกันว่าน่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีหรือมากกว่านั้น

       ผลกระทบจากการออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษเองนั้นอาจไม่สวยหรูนัก เพราะการออกจากสหภาพยุโรปย่อมหมายถึงอัตราภาษีทางการค้าระหว่างประเทศที่จะสูงขึ้น นำไปสู่ปริมาณการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ลดลง ยังไม่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะมาอีกมาก เช่น คนที่มีสัญชาติยุโรปแต่ไม่ใช่คนอังกฤษต้องย้ายออกจากประเทศอังกฤษ  ในทางกลับกันคนอังกฤษที่ไปอาศัยหรือทำงานอยู่ประเทศอื่นในสหภาพยุโรปก็ต้องย้ายกลับมาที่ประเทศอังกฤษ เป็นต้น

       แต่ผลกระทบสำหรับประเทศในแถบเอเชีย ค่อนข้างจะจำกัด หากพิจารณาในมุมของรายได้จากการส่งออกและการกู้ยืมสินเชื่อทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เช่น ประเทศไทยมีรายได้ที่มาจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปคิดเป็นเพียง 2.5% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด  และประเทศในเอเชียที่มีสัดส่วนการส่งออกไปกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมากที่สุดอย่างไต้หวัน ก็มีรายได้จากการส่งออกไปกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปคิดเป็นเพียง 14%  ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียต่างก็มีสัดส่วนของรายได้จากการส่งออกไปกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปอยู่ในช่วงระหว่างเพียง 0 – 10% เท่านั้นครับ อีกทั้งการกู้ยืมสินเชื่อทางธุรกิจก็ถือว่าต่ำมาก ประเทศไทยมีสัดส่วนการกู้ยืมสินเชื่อจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปเพียงประมาณ 4% ของการกู้ยืมสินเชื่อจากต่างประเทศทั้งหมด  และสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนการกู้ยืมสินเชื่อจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมากที่สุดก็คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 38% เท่านั้น ถึงแม้ว่า Brexit จะทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ในประเทศแถบเอเชียหดตัวลงไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร  รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศในแถบเอเชียก็ยังสามารถงัดกลยุทธ์เด็ดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก ทั้งการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินและการคลัง

       แต่ในสถานการณ์การลงทุนที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ นักลงทุนบางท่านที่ต้องการลงทุนด้วยความระมัดระวังมากขึ้น หรืออาจต้องการมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากเงินลงทุน  บลจ.ไทยพาณิชย์ จึงได้นำเสนอ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลอินคัมพลัส (SCBGPLUS) เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนซึ่งตอบโจทย์ดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยนะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
       กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด