Worldwide Wealth by SCBAM : กระแสกัญชงกับการลงทุนหุ้นไทย

1 เมษายน 2564

         หลังจากที่เฝ้ารอกันมานาน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและเชิงอุตสาหกรรม เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกกฎเกณฑ์ในการนำกัญชงไปใช้ได้ใน 3 กรณี ได้แก่ 1) สารสกัดจากกัญชงจะต้องมีระดับสารมึนเมา (THC) ต่ำกว่า 0.2% เท่านั้น 2) จะต้องใช้ผลผลิตกัญชงภายในประเทศเท่านั้นไม่อนุญาตให้นำเข้ามาสกัด แต่สามารถส่งออกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการในประเทศได้ และ 3) การขออนุญาตปลูกจะต้องมีผู้รับซื้อที่ชัดเจน ไม่อนุญาตให้ปลูกโดยยังไม่มีแหล่งรับซื้อ สำหรับประเทศไทยนั้นมองว่าจะได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอย่างมากจากการปลดล็อกกัญชงในครั้งนี้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ทำให้การใช้กัญชงเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ทั้งยังมีสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ถึง 2-3 รอบต่อปี และมีต้นทุนต่ำกว่าในสหรัฐฯ และยุโรป ที่ต้องปลูกในโรงเรือนเพื่อควบคุมอุณหภูมิ

         ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันว่ากัญชงกับกัญชาแตกต่างกันอย่างไร ทำไมประเทศไทยจึงอนุญาตให้ปลูกและใช้ประโยชน์ได้เฉพาะกัญชงเท่านั้น สำหรับกัญชงและกัญชานั้นเป็นพืชชนิดเดียวกัน มีลักษณะภายนอกแตกต่างกันน้อยมาก แต่สามารถสังเกตได้เบื้องต้นคือ กัญชงมีในแคบเรียวและสีเขียวอ่อนกว่า มีลำต้นสูง และแตกกิ่งก้านน้อยกว่า ช่อดอกมียางน้อยกว่ากัญชา โดยกัญชงไม่นำมาใช้ในแง่ของยาเสพติด แต่จะเป็นการปลูกเพื่อใช้เส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้า เยื่อกระดาษ และเครื่องทอต่าง ๆ  จะเห็นได้จากที่ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชงกันมานานแล้ว เพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้จากงานหัตถกรรม

         อย่างไรก็ตาม เราสามารถแยกความแตกต่างของกัญชงและกัญชาได้จากระดับของสารที่ทำให้เกิดความมึนเมา หรือเรียกว่าสาร THC (Delta-9-tetrahydrocannabinal) โดยกัญชงจะมีสาร THC ในใบและช่อดอกไม่เกิน 1% แต่ถ้าสาร THC เกิน 1% จะถือว่าเป็นกัญชา จึงทำให้กัญชามีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการเมาและถือว่าเป็นสารเสพติด นอกจากนี้ กัญชงและกัญชายังมีสารอีกตัวหนึ่งที่เหมือนกันคือ CBD (Cannabidiol) ซึ่งสารนี้จะไม่ส่งผลทางประสาทโดยตรงทำให้ผู้ใช้ไม่เกิดอาการเมา สาร CBD มีคุณสมบัติลดอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบของแผล ลดอาการชักเกร็ง และอาการคลื่นไส้ โดยกัญชงจะมีปริมาณสารตัวนี้มากกว่ากัญชา ดังนั้นจะเห็นว่าทางรัฐบาลจึงปลดล็อกอนุญาตให้เอกชนสามารถปลูก สกัด และผลิตในเชิงพาณิชย์ได้เฉพาะกัญชงเท่านั้น

 

         สำหรับการเปิดตลาดกัญชงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ในประเทศไทยจะเพิ่งเกิดขึ้นแต่ในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมามีการสนับสนุนให้ใช้กัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และมีการวิจัยพัฒนาอย่างถูกกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา และบางประเทศในยุโรป แต่ก็มีนโยบายและการควบคุมที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกไปจนถึงการออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ที่ผ่านมาตลาดกัญชงในต่างประเทศมีศักยภาพรในการเติบโตสูง และมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น ด้วยขนาดตลาดกัญชงโลกในปัจจุบันมีขนาดกว่า 1.7 แสนล้านบาท และการเติบโตย้อนหลังเฉลี่ยต่อปีกว่า 20% ในปี 2559 - 2563 (ที่มา : New Frontier Data) โดยเป็นการใช้งานทั้งทางการแพทย์ และสำหรับสันทนาการ โดยในต่างประเทศนั้นสามารถนำกัญชงและกัญชาไปผลิตเป็นสินค้าได้ทั้งอุปโภคและบริโภค และขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ น้ำมันสกัด เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว สารปรุงแต่งในอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยว อาหารเสริมในรูปของยาเม็ดหรือแคปซูล และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในรูปของอาหารสัตว์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยทางภาครัฐกำลังทยอยออกฎหมายที่เกี่ยวกับกัญชง ทั้งในการขออนุญาตปลูก การสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาใช้ภายนอก และการนำสารสกัด CBD มาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม อาหาร และอาหารเสริม

         ในส่วนของผู้ประกอบการกัญชงนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มตามขั้นตอนการผลิต คือ 1) กลุ่มต้นน้ำ คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่เอาเมล็ดมาทำการเพาะปลูก ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน โดยต้องมีใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขในการปลูกและสามารถระบุผู้ซื้อผลผลิตเบื้องต้นได้ 2) กลุ่มกลางน้ำ คือ การนำเอาไปสกัดเป็นน้ำมันหรือเป็นสาร CBD โดยโรงสกัดจะต้องมีใบอนุญาตและมีมาตรฐาน GMP ตามผลิตภัณฑ์ตามกฎหมาย และ 3) กลุ่มปลายน้ำ คือ ผู้ประกอบการที่จะนำเอาสารสกัดมาผสมลงไปในผลิตภัณฑ์  

         สำหรับการลงทุนในหุ้นไทยนั้น มองว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในช่วงแรกคือผู้ประกอบการกลุ่มต้นน้ำ และกลางน้ำ หรือผู้นำเข้า-ปลูก-สกัด ที่คาดจะเห็นรายได้เข้ามาก่อน ซึ่งจะมีอำนาจต่อรองราคาสูง และมีความเสี่ยงด้านการแข่งขันต่ำกว่าผู้ประกอบการกลุ่มปลายน้ำ ด้วย 3 เหตุผลหลัก ๆ คือ 1) แนวโน้มผู้ประกอบการที่เข้ามาขออนุญาตทำธุรกิจฝั่งปลายน้ำสูงกว่าต้นน้ำในช่วงแรก  2) ขณะที่การนำเข้าสินค้าต้นน้ำจากต่างประเทศไม่สามารถทำได้ภายใน 5 ปีนี้ ด้วยมาตรการส่งเสริมพืชเกษตรในประเทศของภาครัฐ จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งการปลูก-สกัดจากภายในประเทศเท่านั้น และ 3) ภาครัฐยังไม่มีนโยบายควบคุมราคากลางของกัญชง ทำให้ราคาเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด ในขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มปลายน้ำ จะต้องรอการปลูก-สกัดจากกลุ่มต้นน้ำและกลางน้ำที่จะใช้เวลาอย่างน้อย 4 - 6 เดือน ทั้งยังมีความเสี่ยงด้านการแข่งขันที่สูงอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายที่สนใจผลิตภัณฑ์กัญชงนี้ แต่ในระยะยาวคาดว่าผู้ที่มีศักยภาพในการแข่งขันและมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้จะสามารถอยู่รอดในธุรกิจได้

         จากภาพรวมข้างต้นจะเห็นว่า กัญชงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตใหม่ให้กับผู้ประกอบการ ทั้งเกษตรกร ประชาชนทั่วไป รวมทั้งบริษัทจดทะเบียน โดยมองถึงโอกาสของธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนในอนาคตได้ 

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​