Money DIY 4.0 by SCBAM : การลงทุนในความยั่งยืนในประเทศไทย

31 พฤษภาคม 2564

          เมื่อเราพูดถึงการลงทุนที่เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ที่จะเสริมความมั่งคั่งให้กับแผนการลงทุนของเราในระยะยาว รูปแบบกลยุทธ์การลงทุนในความยั่งยืน (Sustainable Investing) ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการลงทุนที่เน้นในเรื่องการสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว

          บางครั้งนักลงทุนอาจสงสัยว่า เทรนด์ของความนิยมเรื่องการการลงทุนในความยั่งยืนในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร? หนึ่งในพลวัตที่สำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในความยั่งยืนในประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) โครงการความร่วมมือในระดับนานาชาติที่เกิดขึ้นในปี 2558 จากการประชุมองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีการเสนอวาระการพัฒนาระดับโลกเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2579 ซึ่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนานั้นเช่นกัน โดยเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนจะแบ่งออกเป็นเป้าหมาย 17 ข้อหลักและมีการกำหนด target indicators อีก 169 ข้อย่อย เพื่อให้สามารถวัดผลให้เป็นรูปธรรมได้มากขึ้น โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเป้าหมายแต่ละข้อได้ที่ https://sdgs.un.org/goals

          อีกหนึ่งพลวัตที่ส่งเสริมให้เกิดกระแสนิยมในการลงทุนในความอย่างยืนในประเทศไทย มาจากแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนในกลยุทธ์ดังกล่าวในระดับโลก ซึ่งผลักดันให้เกิดดัชนีที่สะท้อนผลตอบแทนจากการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัย ESG Factors (ESG Investing) ในระดับโลก อาทิ เช่น Dow jones Sustainability Index (DJSI), MSCI ESG Index Series, FTSE4Good Index Series เกิดเป็นการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไป ที่ต้องการเข้าร่วมกระแสลงทุนในความยั่งยืน

          ต่อมาทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก็ได้ตอบรับกระแสความนิยมของเทรนด์การลงทุนอย่างยั่งยืนเช่นกัน ทั้งในรูปแบบของการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจในเชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงปัจจัยด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG Factors) และก็ยังส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบของ  ESG Investing จนเกิดเป็นกระแสการจัดตั้งกองทุนธรรมมาภิบาล (CG Funds) และกองทุนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG Funds) เพื่อเป็นทางเลือกของนักลงทุนในการส่งเสริมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ผ่านการลงทุนในกองทุนรวม และทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังได้จัดตั้งดัชนี SET Thailand Sustainability Investment (SETTHSI) เปิดโอกาสให้บริษัทที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน สามารถมีโอกาสเข้าสู่การคำนวณในดัชนีดังกล่าว และยังสนับสนุนให้ทางบริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านปัจจัย ESG ผ่านทางรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่งในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่ เราอาจจะได้เห็นการจัดทำข้อมูลมาตรฐาน (Standardized Data) แบบที่เราใช้กันอยู่บน SETSMART

 

       

          ในส่วนของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และกลุ่มนักลงทุนสถาบัน 32 แห่ง ก็ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (ESG Collaborative Engagement) ของนักลงทุนสถาบัน และร่วมลงนามในแนวทางการร่วมมือปฏิบัติ “การระงับลงทุน” (Negative List Guideline) ในบริษัทจดทะเบียนที่มีประเด็นปัญหาด้านปัจจัย ESG และจะเข้าประสานงานกับบริษัทเพื่อหาทางแก้ปัญหาหรือหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน (Positive Engagement) ซึ่งท้ายที่สุด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาที่รุนแรงนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจเกิดกับผู้ถือหุ้นและสังคมในภาพรวม นักลงทุนแต่ละรายได้ตกลงร่วมกันที่จะไม่เข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทที่มีปัญหานั้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือจนกว่าจะแก้ไขปัญหาสำเร็จ เพื่อผลักดันให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักการ ESG และจากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการลงทุนในความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้เกิดการกำกับดูแลการดำเนินงานของกิจการโดยนักลงทุนสถาบัน

          ส่วนขององค์กรที่สนับสนุนปัจจัยด้าน ESG ในประเทศไทย อาทิ เช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้ประกาศรายงานการจัดอันดับประจำปี 2020 โดยมีบริษัทที่ได้รับคะแนน 3 ดาวขึ้นไป จำนวน 616 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ร้อยละ 4.7 ในขณะที่ทางสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ได้รับการรับรองคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน (Certified) 472 บริษัท บ่งบอกถึงความตระหนักถึงการมีธรรมาภิบาลที่ดีของบริษัทจดทะเบียนที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ ทางบลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด ก็ได้มีโอกาสนำเสนอกองทุนที่เน้นการลงทุนในความยั่งยืน โดยผสมผสานการวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ ความแข็งแกร่งทางการเงิน ตลอดจนคุณภาพและมูลค่าที่เหมาะสมของกิจการ เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่เพียงแต่สังคมและบริษัทจะได้ประโยชน์จากการส่งเสริมคุณสมบัติด้าน ESG ที่ดีเท่านั้น แต่นักลงทุนยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม คุ้มค่าอีกด้วย ซึ่งหวังว่าจะจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับโอกาสในการปลูกต้นไม้เสริมความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุนของเราในระยะยาว

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด