Money DIY 4.0 by SCBAM : สะสม ‘เงินปันผล’ โอกาสสร้าง Passive Income ไปกับกลุ่มกองทุนอสังหาฯ

30 สิงหาคม 2567

            การสร้าง Passive Income คือ รายได้ที่เกิดจากการลงทุนด้วยการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือจากการลงทุนกับสินทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ ซึ่งนับเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ได้ดีสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนสร้างความมั่นคงทางการเงินระยะยาว โดยวิธีการสร้าง Passive Income จากสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนและได้รับความนิยม ก็มีให้เลือกอยู่หลากหลาย โดยหนึ่งในนั้น คือ การลงทุนกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT (ในที่นี้จะเรียกว่า “กลุ่มกองทุนอสังหาฯ”) โดยการลงทุนกับสินทรัพย์กลุ่มนี้ จะมีโอกาสรับผลตอบแทนที่คล้ายกับการลงทุนในหุ้นปันผล ประกอบกับสำนักงาน ก.ล.ต. มีกำหนดให้กองทุนอสังหาฯ ต้องจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว(*)  จึงอาจมองได้ว่าสินทรัพย์กลุ่มนี้ จะมีโอกาสสร้างมูลค่าเงินให้เติบโตในลักษณะ Passive Income ได้จากการให้ผลตอบแทนในรูปแบบ “เงินปันผล” จะช่วยสร้างโอกาสได้รับกระแสเงินสดได้แบบสม่ำเสมอและต่อเนื่องจากการลงทุน อีกทั้ง ยังมีโอกาสสร้างกำไรจากส่วนต่างราคาหน่วยลงทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ก่อนจะเลือกลงทุนกับกลุ่มกองทุนอสังหาฯ ใด เพื่อหาโอกาสสร้าง Passive Income ที่ดีได้นั้น จะต้องไม่มองข้ามถึงปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ประกอบ เช่น ลักษณะธุรกิจ  งบการเงิน  แผนการดำเนินงานในอนาคต  สภาพคล่อง และตลาดรองที่สามารถถอนใช้ได้ในเวลาที่ต้องการ เท่านี้ ก็มีโอกาสสร้าง Passive Income ที่งอกเงยมาจากเงินปันผลได้อย่างมั่นใจ

            สำหรับการวางแผนเพื่อสร้าง Passive Income นั้น สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่เริ่มมีรายได้ โดยเริ่มทยอยสะสมหน่วยลงทุนให้พอร์ตการลงทุนมีกระแสเงินสดจากเงินปันผลจากปีละน้อยๆ เป็นปีละมากๆ  จนสามารถใช้เงินปันผลในชีวิตประจำวันเพียงพอ  โดยที่ไม่ต้องถอนเงินต้นหรือขายเงินลงทุนมาเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในวัยเกษียณได้ ดังตัวอย่างภาพ แสดง “พอร์ตหุ้นเพื่อเกษียณที่ดี คือพอร์ตที่ให้กระแสเงินสด ปันผล” ซี่ง Passive Income นี้ มีลักษณะคล้ายกับการได้รับเงินปันผลจากหุ้นปันผล ดังที่กล่าวในข้างต้น

ซึ่งคุณลักษณะของกลุ่มกองทุนอสังหาฯ ที่ให้เงินปันผลดีจะเป็นอย่างไรนั้น พิจารณาได้จากปัจจัย 3 ประการคือ (1) เป็นกองทุนที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ (2) กิจการธุรกิจที่เป็นทรัพย์สินของกองทุนมีผลการดำเนินงานและฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีภาระหนี้น้อย  และสุดท้าย (3) มีราคามูลค่าหน่วยลงทุนที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ

            ​สำหรับการพิจารณาผลการดำเนินงานของกลุ่มกองทุนอสังหาฯ สามารถเลือกวิธีการวิเคราะห์ได้ 2 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น (1) การวิเคราะห์แบบบนลงล่าง (Top Down) คือ การใช้ข้อมูลมหภาคและอุตสาหกรรมมากำหนดขอบเขตการลงทุน โดยคัดเลือกและคำนวณมูลค่าที่แท้จริงของกองทุน แนวโน้มธุรกิจ เทียบกับราคาตลาด  ยกตัวอย่างเช่น พิจารณาอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของการลงทุน บริเวณที่ตั้งที่ได้รับประโยชน์ หลังจากนั้น สืบหากองทุนที่ประกอบธุรกิจหรือมีทรัพย์สินของกองทุนที่ได้รับผลดีจากการขยายตัวนั้น หรือ (2) จะวิเคราะห์โดยพิจารณาคัดเลือกแบบ Bottom Up  คือ วิเคราะห์ข้อมูลรายบริษัทก่อนเพื่อเสาะหากองทุนที่น่าลงทุน หลังจากนั้น ดูแนวโน้มที่จะลงทุนในแง่สภาวะแวดล้อมทางอุตสาหกรรมและข้อมูลมหภาคที่เกี่ยวข้อง

            ​อย่างไรก็ดี การเลือกลงทุนกับกลุ่มกองทุนอสังหาฯ ยังมีข้อสังเกตของการจ่ายเงินปันผลที่แนะนำพิจารณาเพิ่มเติม คือ แหล่งที่มาของเงินจ่ายปันผลที่ต้องมาจากกำไรจากการดำเนินงาน ไม่ใช่การกู้ยืม มีพฤติกรรมการจ่ายเงินปันผลย้อนหลังที่สม่ำเสมอ และต้องไม่งดจ่ายเงินปันผลโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และการเลือกกองทุนเพื่อเข้าลงทุน ก็ไม่ควรเลือกโดยพิจารณาแค่ Dividend Yield ที่สูงมากๆ เท่านั้น  เพราะนั่นอาจเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้ยากยิ่งในระยะยาว หรืออาจเป็นเป็นเพียงปัจจัยเฉพาะที่ทำให้กองทุนอสังหาฯ นั้นมีผลการดำเนินงานดีมากเฉพาะช่วงเวลา และจากแนวทางที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  เชื่อว่าสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายสร้าง Passive Income ระยะยาว จะพบจังหวะการลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลที่คุ้มค่าจากกลุ่มกองทุนอสังหาฯ ที่มีปัจจัยพื้นฐานและอนาคตดีได้ โดยเฉพาะในช่วงจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยยังผันผวนนี้


            ​(*) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน.36/2562 เรื่อง การจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, ทน.38/2562 เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน, ประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ สร.26/2555 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับรายการและข้อความในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์


กองทุนรวมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของ บลจ. ไทยพาณิชย์

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (“DIF”) กองทุนมีรายได้หลักจากสัญญาให้เช่าทรัพย์สินเสาโทรคมนาคม และสายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable) ระยะยาวกับกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) โดยธุรกิจของผู้เช่ามีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นตามนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี กองทุนมีการจ่ายปันผลทุกไตรมาส และจ่ายปันผลแล้ว 42 ครั้ง นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน  

กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (“CPNCG”) ลงทุนในสิทธิการเช่าของอาคารสำนักงานเกรดเอบริเวณเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีอัตราการเช่าพื้นที่สูง โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี กองทุนมีการจ่ายปันผลทุกไตรมาส และจ่ายปันผลแล้ว 46 ครั้ง นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน  

กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ไพร์มออฟฟิศ (“POPF”) ลงทุนในสิทธิการเช่าของอาคารสำนักงานพื้นที่ทำเลดี 3 แห่ง คือ อาคารสมัชชาวานิช 2, อาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ และอาคารบางนา ทาวเวอร์  กองทุนมีการดูแลรักษาอาคาร รวมถึงปรับปรุงให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอย่างโดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี กองทุนมีการจ่ายปันผลทุกไตรมาส และจ่ายปันผลแล้ว 53 ครั้ง นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน    


คำเตือน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 0 2777 7777 www.scbam.com

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน 
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด