Money DIY 4.0 by SCBAM : ความไม่สมดุลนโยบายทางการเงินสหรัฐฯ และไทยในตลาดตราสารหนี้

27 กรกฎาคม 2564

          หลังจากที่ทั้งโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 1 ปี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกและการจ้างงานต้องหยุดชะงักไปชั่วขณะ รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ นโยบายเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยในส่วนของธนาคารกลางก็ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำสุดในประวัติการณ์ รวมทั้งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจำนวนมหาศาลในปีที่ผ่านมา

          ในปีนี้ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19  โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีการอัตราการการฉีดวัคซีนสูง เช่น สหรัฐฯ หรือประเทศในกลุ่มยูโรโซน โดยจะเห็นได้ว่าอัตราการติดเชื้อน้อยลงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการจ้างงานฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจค่อย ๆ ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น นักลงทุนเองก็มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในทิศทางที่เป็นขาขึ้น ทำให้ธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด เริ่มส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ว่านโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายที่ใช้ในตลอดช่วงปีที่ผ่านมาอาจจะต้องเพิ่มความเข้มงวดขึ้นบ้าง เพื่อตอบสนองต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

          โดยเฟดมองภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตถึงร้อยละ 7 ในปีนี้ และร้อยละ 3.3 ในปี 2565 โดยคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้จะสูงถึงร้อยละ 3.4 จากปัจจัยชั่วคราวทั้งแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลหรือการขาดแคลนอุปทาน ในขณะที่ตลาดแรงงานจะแข็งแกร่งขึ้น อัตราการว่างงานลดลง และค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสวัสดิการผู้ว่างงานที่จะหมดลงในเดือนก.ย.นี้ จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้เฟดส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งภายในปี 2566 จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะคงดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 0 ไปจนถึงอย่างน้อยปี 2566 นอกจากนั้นกรรมการเฟดได้เตรียมที่จะหารือถึงการลดปริมาณวงเงินซื้อสินทรัพย์ หรือ QE ที่ปัจจุบันทำอยู่ถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งจะปูทางไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 โดยท่าทีของเฟดที่ออกมาหลังประชุมนโยบายการเงินในเดือน มิ.ย. ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับเพิ่มขึ้นทันที และกดดันให้ค่าเงินสกุลอื่นอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วรวมถึงสกุลเงินบาท ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ก็ปรับเพิ่มขึ้นตอบรับมุมมองการคาดการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นของเฟด รวมถึงซีกโลกตะวันตกก็เริ่มมีการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย

          สำหรับประเทศไทยนั้น ยังคงเผชิญกับการระบาดของโควิดในระลอกที่ 3 อย่างหนักหน่วง โดยยังไม่มีทีท่าว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และอัตราการตายต่อวันจะลดลง รวมทั้งอัตราการฉีดวัคซีนที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้ อีกทั้งยังมีเชื้อไวรัสที่กลายพันธ์ที่ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังกลับมาติดเชื้อได้อีก ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยต้องกลับมาอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงอีกครั้งหลังจากที่เคยคาดการณ์ว่าจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวได้เร็วขึ้นก็อาจจะต้องเลื่อนออกไป หรือใช้นโยบายที่รัดกุมมากขึ้นส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่เลือกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งการระบาดในระลอกที่ 3 นั้น ทำให้ทางรัฐบาลต้องออกมาตราการเยียวยาช่วยเหลือเพิ่มเติมโดยใช้เงินที่เหลือจากวงเงินกู้ยืม 1 ล้านล้านบาท ทำให้ปัจจุบันวงเงินเงินกู้ยืมเดิมถูกใช้เต็มจำนวนแล้ว แต่พบว่ายังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดในระลอกใหม่จึงทำให้ทางรัฐบาลต้องกู้เงินผ่าน พ.ร.ก.กู้เงินใหม่จำนวน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานของพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของมาตราการต่าง ๆ ให้ตรงจุด โดยเฉพาะการส่งเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจและครัวเรือน และยังคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีก ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณจะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นความไม่สมดุลกันระหว่างนโนบายทางการเงิน มีโอกาสที่จะส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ทางการเงินของไทย และกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงไปอีก

 

       

          จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาลไทย ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลไทยยังคงมีความเสี่ยงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจากอัตราการฉีดวัคซีนที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก อัตราเงินเฟ้อที่กลับมาเร่งตัวจากอุปสงค์ที่ถูกกดทับมานาน การจ้างงานเริ่มกลับมาแข็งแกร่งหลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง รวมทั้งนโยบายทางการเงินในบางประเทศที่เริ่มเข้มงวดมากขึ้น 

          อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกยังคงมีความเสี่ยงของไวรัสกลายพันธ์ ดังจะเห็นได้จากอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในบางประเทศที่แม้จะมีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่กดดันบรรยากาศการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มากและรวดเร็วในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งเรายังคงจะต้องจับตาดูสถานการณ์และตัวเลขเศรษฐกิจในระยะถัดไปว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งได้จริงหรือไม่

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด