Money DIY 4.0 by SCBAM : จับทางลงทุนในจังหวะที่ ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ใกล้สิ้นสุด

25 พฤษภาคม 2566

            เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.9% YoY นั่นแปลว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน ที่ระดับ 5.00-5.25% อยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแล้ว ซึ่งสะท้อนได้ว่า นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตึงตัวมาจนใกล้สุดทาง และน่าจะเข้าสู่ช่วงของการหยุดขึ้นดอกเบี้ย (Pause) โดยทาง CME FedWatch Tool ก็มีมุมมองของตลาดที่ประเมินว่าความน่าจะเป็นของการคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. ไว้สูงราว 80%

            ซึ่งแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะมีโอกาสหยุดขึ้น แต่ Fed ก็ไม่น่าจะรีบเร่งในการปรับลดดอกเบี้ยลงมา ในขณะที่ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังค่อนข้างตึงตัว และ Fed น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมายที่วางไว้ 

            หลังจากปี 2565  ที่ดอกเบี้ยมีทิศทางขาขึ้นที่ต่อเนื่องและรวดเร็ว กลายมาเป็นปัจจัยกดดันหลักต่อการลงทุนในตลาดหุ้นโลก แต่ปี 2566 นี้ ยังมีความเชื่ออยู่ว่า การตึงตัวนโยบายการเงินที่ใกล้สุดทางของ Fed น่าจะเอื้อต่อการฟื้นตัวของตลาดหุ้น แต่ก็มีข้อสังเกตและมองเห็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ตลาดหุ้นโลกมีความผันผวนมากขึ้นในระยะสั้นถึงกลาง ระหว่างเส้นทางของการฟื้นตัวในระยะยาว ประเด็นแรก คือ การกระจุกตัวของหุ้นที่ขับเคลื่อนตลาด อย่างเช่น ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ และดัชนีหุ้นเทคโนโลยี NASDAQ ที่ปรับตัวขึ้นมาราว 7% และ 17.9% ตามลำดับ ตั้งแต่ต้นปี มาจนถึงกลางเดือน พ.ค. 2566 ก็จะพบว่า หุ้นที่ขับเคลื่อนดัชนีตลาด กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่เป็นหลัก เช่น Microsoft +30%, Apple +32.4%, Meta (หรือ Facebook เดิม) +98.5% และ Nvidia +99.9% ที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้น หากราคาหุ้นเหล่านี้มีความผันผวนจากปัจจัยเฉพาะตัว ก็อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ด้วยเช่นกัน ประเด็นถัดมา คือ ปัญหาสภาพคล่องกลุ่มธนาคารอาจยังไม่จบ โดยเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2566ธนาคาร First Republic Bank (FRC) จำเป็นต้องขายกิจการให้กับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่คือ JP Morgan หลังจากก่อนหน้านี้ ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) เผชิญปัญหาสภาพคล่องแล้วต้องปิดตัวลงเมื่อเดือน มี.ค. 2566 ขณะที่ ดัชนี KBW Regional Bank Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ลงทุนในหุ้นธนาคารขนาดกลาง-เล็ก (Regional Bank) ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงมากถึง 31.5% ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของราคา ทำให้เห็นได้ว่า นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุน และมีความกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารของสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม Regional Bank อย่างไรก็ดี การเข้าซื้อกิจการ FRC โดย JP Morgan เป็นการแสดงให้เห็นว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ มีความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องลุกลามบานปลาย

            ปัญหาเพดานหนี้หรือ Debt Ceiling ของสหรัฐฯ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องติดตาม หลังจาก รมว. คลังของสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะขาดสภาพคล่องเร็วสุดช่วงต้นเดือน มิ.ย. (X-date) ซึ่งจริงๆแล้ว ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต แต่ก็ถูกแก้ไขได้ในท้ายที่สุด อย่างไรก็ดี การเจรจาของทั้งสองพรรค คือ พรรคเดโมแครต (Democratic Party)  และพรรคริพับลิกัน (Republican Party)  ก็จำเป็นต้องใช้เวลา และมักจะหาทางออกร่วมกันได้ในช่วงใกล้กำหนดเส้นตาย ซึ่งนั่นอาจทำให้ระหว่างทางจากนี้ บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นอาจได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนดังกล่าว

            สำหรับกลยุทธ์การลงทุน SCBAM ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตราสารทุนในระยะยาว แต่ด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนในช่วงนี้ ทำให้นักลงทุนต้องเลือกเฟ้นสินทรัพย์ในการลงทุน (Selective) เช่น การคัดเลือกหุ้นด้วยปัจจัยเชิงคุณภาพ (Quality) คือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในระดับสูง, ผลประกอบการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ, อัตราส่วนการกู้ยืม (Financial Leverage) อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การกระจายความเสี่ยง คือ หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของการลงทุน ไม่ว่า จะเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย หรือประเทศ หรือภูมิภาคที่แตกต่างกัน รวมถึง การผสมผสานสินทรัพย์หลายประเภททั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินทรัพย์ทางเลือก ในพอร์ตลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาวะความผันผวนของตลาดหรือเหตุการณ์ที่อาจเกิดได้แบบไม่คาดฝัน           

            แม้ว่า โอกาสสำหรับการลงทุนในตราสารทุนปีนี้ เปิดกว้างกว่าปีก่อน แต่ระยะสั้นแล้ว ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนยังจำเป็นต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด