Money DIY 4.0 by SCBAM : มุมมองสภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งหลังปี 2020

24 กรกฎาคม 2563

       จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลในหลายๆ ประเทศ (รวมถึงไทย) ได้เลือกใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (dash for cash) รวมถึงความผันผวนอย่างมากของตลาดการเงินโลก จนกระทั่งรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกได้ออกมาตรการทั้งการเงินและการคลังขนาดใหญ่และในรูปแบบที่ไม่ปกติ (unconventional measures) เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจชดเชยรายได้ที่หายไป รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

       แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคเริ่มอยู่ในการควบคุมตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทยได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเป็น -4.9% (เดิมคาด -3.0%) ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเป็น -8.1% (เดิมคาด -5.3%) โดยประเมินการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากกว่าเดิม รวมทั้งการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทย ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ -1.7% (เดิม -1.0%)

       นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังทำให้ภาวะการเงินไทยตึงตัวขึ้นอย่างมากสะท้อนจากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและเครดิตสเปรด (corporate credit spread) ของหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยเป็นผลมาจากการขาดสภาพคล่องและขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน การระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตราสารหนี้และตราสารทุนที่ปรับลดลงมาก ความเสี่ยงด้านเครดิตหรือความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจที่ปรับสูงขึ้นและตลาดการเงินโลกที่ผันผวนรุนแรง อย่างไรก็ดี  มาตรการของภาครัฐและ ธปท. ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ 0.50% ต่อปี การเข้าดูแลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มาตรการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อของภาครัฐ รวมไปถึงเงินบาทที่อ่อนค่าลงในปีนี้ทำให้มีส่วนช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายลงได้

       

       ในระยะต่อไป คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตลอดทั้งปี จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ และความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ธปท.อาจพิจารณาใช้มาตรการด้านสินเชื่อเพิ่มเติม อาทิ การสนับสนุนสภาพคล่อง การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ หรือการลดดอกเบี้ยหรือผ่อนผันภาระหนี้ เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อประคับประคองฐานะทางการเงิน สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน นอกจากนี้ ธปท.อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้เพิ่มเติม แม้จะ policy room ด้านดอกเบี้ยนโยบายที่จำกัด หากมีการระบายของ COVID-19 ระลอกที่ 2 ที่รุนแรงกว่าคาด อาจกดดันให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงและต่อเนื่อง

       สำหรับมุมมองตลาดตราสารหนี้ไทย เส้นอัตราผลตอบแทนอาจมีความชันเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในกรอบใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณพันธบัตรระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากแผนการกู้เงินมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้รัฐบาลจะมีความพยายามในการกระจายแหล่งที่มาของเงินทุนเพื่อลดความผันผวนในตลาดตราสารหนี้

       สำหรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าที่สำคัญ คือ ความเสี่ยงด้านเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับธุรกิจที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูงขึ้นมากอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนนำไปสู่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ และความเสี่ยงด้านความเปราะบางทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยที่อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพภาคการเงิน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะต่อไป

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด