Money DIY 4.0 by SCBAM : ลงทุนอย่างไร? เมื่ออิสราเอลกับอิหร่านยังไม่เจอข้อสรุป

24 พฤษภาคม 2567

            ความขัดแย้งทางตะวันออกกลางปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังจากอิหร่านทำการโจมตีในส่วนภูมิภาคต่างๆ ของอิสราเอล เมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ เป็นการตอบโต้อิสราเอล ที่บุกเข้าสถานกงสุลของอิหร่านในเมืองดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 ราย รวมถึงผู้นำกองทัพอิหร่าน ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นี้ ได้ส่งผลต่อดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นตัวแทนในการวัดความผันผวนของตลาด ปรับตัวขึ้นกว่า ร้อยละ 8.6 และราคาทองคำขึ้นไปแต่ที่ระดับ 2,400 ดอลลาร์/ออนซ์  สำหรับราคาน้ำมัน แม้ว่าอิสราเอลจะไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่ความขัดแย้งกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ เช่น อิหร่าน อาจส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันทั่วโลก ซึ่งหากเหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 21 ของปริมาณการขนส่งน้ำมันทั่วโลกในแต่ละวัน  ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30 -40 ดอลลาร์/บาร์เรล หากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือการหยุดชะงักของอุปทานในภูมิภาคที่ผลิตน้ำมันหลักๆ ก็อาจส่งผลต่อแรงกดดันด้านการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อในการกลับสู่ระดับเป้าหมาย และการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันภาคธุรกิจที่ต้องแบกภาระต้นทุนทางการเงินไว้มหาศาล และเมื่อคาดว่าความขัดแย้งจะทำให้เกิดวิกฤตน้ำมันแพง สินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก จึงเกิดความผันผวนสะท้อนผ่านผลตอบแทนที่ปรับตัวลงในช่วงเวลานั้นๆ ดังนั้น ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเติบโตเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อในระยะถัดไป จึงกลายเป็นปัจจัยที่ต้องจับตากันต่อไป

            ​ในกรณีฐาน ประเมินว่าสถานการณ์ครั้งนี้ อาจจะไม่บานปลายเป็นสงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน แม้ว่าจะมีการปะทะกันโดยตรงไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการตอบโต้ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น โดยที่ผ่านมา เป็นสงครามตัวแทน (Proxy war) จากกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางที่อิหร่านให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตาม สงครามที่ยืดเยื้อแต่ไม่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับจำกัด ด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดความกังวลต่อเงินเฟ้อที่มองว่าอาจจะปรับตัวสูงขึ้น แต่เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบถึงสถานการณ์สงครามในอดีตจากข้อมูลของ JP Morgan จะพบว่าภาวะสงครามส่วนใหญ่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญต่อการลงทุนในตลาดหุ้นในระยาว โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้ภายในระยะเวลา 1-3 เดือน หลังจากที่เกิดสงคราม ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่สามารถปรับตัวขึ้นได้ภายใน 3 เดือนหลังจากเกิดสงครามเช่นเดียวกัน

            ​ด้านการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่อาจยังมีความกังวลว่า แล้วจะลงทุนอย่างไรดีนั้น แนะนำว่าการทยอยสะสมการลงทุนในช่วงที่ตลาดกังวลต่อภาวะสงครามจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการรอให้สถานการณ์คลี่คลาย แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจดูเหมือนว่าการลงทุนกำลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์กลับมารุนแรงและมีความยืดเยื้อ ก็อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ภาวะ Late cycle หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากอัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้น การลงทุนหุ้นในภาวะเช่นนี้ สามารถกระจายการลงทุนไปยังหุ้นคุณภาพ (Quality) หรือหุ้นราคาไม่แพง (Value) ก็มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนดีกว่า รวมถึง การกระจายการลงทุนไปยังสินค้าโภคภัณฑ์ ก็จะเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้เช่นเดียวกัน

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด