Money DIY 4.0 by SCBAM: ผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจไทย

23 พฤษภาคม 2568

            ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนปี 2568 สหรัฐฯ ได้มีการประกาศนโยบายเก็บภาษีนำเข้าแบบ Reciprocal Tariffs โดยมีการเก็บอัตราภาษีขั้นต่ำที่ร้อยละ 10 สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ (ยกเว้นแคนาดา–เม็กซิโก) และเก็บภาษีเพิ่มเติมแบบ country-specific ตามสัดส่วนดุลการค้า โดยทั้งนี้ ประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ มากจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น อย่างเช่น ประเทศจีน ที่แต่เดิมถูกเก็บภาษีร้อยละ 34 ก็จะถูกปรับขึ้นเป็นร้อยละ 145 ซึ่งเป็นผลจากที่ทางการจีนมีการขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ หลายครั้ง ขณะที่ ญี่ปุ่นและประเทศเวียดนามถูกเก็บภาษีร้อยละ 24 และร้อยละ 46 ตามลำดับ ขณะที่ ประเทศไทยได้ถูกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 36 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเอเชียและอาเซียน ทำให้คาดว่าผลกระทบจากมาตรการภาษีจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่จะเติบโตชะลอตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 1.5 จากเดิมคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.4

            แม้ทางสหรัฐฯได้ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน (นับจากวันที่ 9 เมษายน 2568) เพื่อให้ประเทศต่างๆ มีโอกาสเข้ามาเจรจาต่อรองเพื่อปรับลดภาษี แม้ว่าจะยังคงอัตราภาษีขั้นต่ำของทุกประเทศไว้ที่ร้อยละ 10 แต่ก็ทำให้ในระยะสั้นนั้น ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยได้ถูกชะลอออกไปในระหว่างช่วงของการเจรจา รวมถึงก่อให้เกิดการเร่งส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในช่วงกรอบ 90 วัน เพื่อกักตุนสินค้าก่อนที่มาตรการภาษีจะมีผลกลับมาบังคับใช้อีกครั้งในช่วงต้นไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจและอัตราภาษีที่สูงขึ้น จะทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัว การลงทุนจากภาคเอกชนที่คาดว่าจะชะลอตัวและยังไม่ฟื้นในปีนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น รวมถึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ไปอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ณ สิ้นปี 2568 เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 18.3 ของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยที่ส่งไปยังสหรัฐฯ ขณะเดียวกันไทยโดนเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งหลายๆ รายในตลาดสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทย ยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ และอัตราภาษีนำเข้าที่จะถูกบังคับใช้จริง โดยคาดว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับทางสหรัฐฯ นั้น ควรจะเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ระหว่างกรอบการยกเว้นภาษี 90 วัน

            ประเทศไทยมีทางเลือกหลายทางในการแก้ไขปัญหาดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ เพื่อเจรจาต่อรองลดอัตราภาษีนำเข้า ดังต่อไปนี้ ลดการขาดดุลการค้าโดยการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น อาทิเช่น การนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ทดแทนการนำเข้าจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพื่อช่วยลดดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ รวมถึงการเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลือง ทดแทนการนำจากประเทศอื่น เช่น บราซิล หรือ ข้าวโพดที่ประเทศไทยมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มการนำเข้าสินค้าอื่นจากสหรัฐฯ เช่น เครื่องบินและชิ้นส่วนเครื่องบิน เป็นต้น และรวมถึงลดการส่งออกสินค้าผ่านประเทศไทยไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า โดยควรมีการออกมาตราการจำกัดและคัดกรองสินค้าสวมสิทธิที่ถูกส่งออกผ่านไทยไปยังสหรัฐฯ ที่ทำเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีน เช่น ควรต้องมีการตั้งเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ หรือต้องมีกำหนดขั้นต่ำในการการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นมาเพื่อบรรจุใหม่ หรือประกอบผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่โดยที่ไม่ได้มีกิจกรรมที่เป็นการเพิ่มมูลค่าและทำให้ส่งออกซ้ำไปยังประเทศปลายทางอย่างสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าให้เข้มข้นมากขึ้น และรวมถึงการที่ประเทศไทยอาจจะต้องยอมผ่อนปรนมาตรการกีดกันทางการค้าบางอย่างและลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาศในการเจรจาต่อรองในรอบนี้

            แม้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า รวมถึงจีนนั้นจะมีแนวโน้มที่ผ่อนคลายมากขึ้นหลังจากที่หลายประเทศต่างมีความพยายามในการเข้าไปเจรจาเพื่อขอลดภาษีนำเข้า ทำให้มีความคืบหน้าด้านการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ดี หากแต่ข้อสรุปผลการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ ว่าอัตราภาษีนำเข้าจะเป็นอย่างไรนั้น ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง และความไม่แน่นอนทางการค้าที่เกิดจากการดำเนินนโยบายภาษีของสหรัฐฯ นั้น ก็ยังคงกดดันเศรษฐกิจโลก รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจจะเข้าสู่ระดับภาวะถดถอย และยังส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 อีกด้วย

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด