มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : กลัวขาดทุน จิตวิทยาพาจน

18 มกราคม 2561

         เราคงเคยได้ยินคำพูดที่พูดกันว่าคนจนเล่นหวยคนรวยเล่นหุ้น ซึ่งพอฟังดูแล้วเหมือนกับว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นเป็นแหล่งการพนันของผู้มีฐานะ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นความคิดที่ผิดอย่างแรง ตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นมิได้เป็นการพนัน แต่เป็นตลาดที่แลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนของกิจการ และกิจการเหล่านั้นก็มีการทำมาหากินสร้างรายได้ กำไร และปันผลออกมาทุกๆ ปี ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่ากิจการต่างๆ ในตลาดนั้นมีการเติบโต หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือเป็น positive sum game กล่าวคือ หากรวมผลได้ผลเสียของนักลงทุนซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งกำไรและขาดทุนของทุกๆ คนแล้ว ผลรวมจะเป็นบวกกล่าวคือส่วนรวมยังรวยขึ้น มั่งคั่งขึ้น ซึ่งต่างกับการพนันหรือล็อตเตอรี่ที่เป็น negative sum game หรือเมื่อรวมผลได้ผลเสียของผู้เล่นทุกๆ คนแล้ว ผลรวมจะเป็นลบคือโดนกินมากกว่ารางวัลที่จ่ายออกมา

         ทั้งๆ ที่รู้ว่าโอกาสถูกหวยน้อย รวมแล้วติดลบมีเจ้ามือกำไรอยู่คนเดียว ซึ่งต่างจากการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีในระยะยาว  แล้วทำไมคนถึงชอบเล่นหวยแต่ไม่นิยมลงทุนในหุ้นกันหล่ะ? แม้แต่ในกลุ่มที่มีฐานะขึ้นมาหน่อยเริ่มมีเงินออมเงินเก็บก็นิยมฝากแบงก์รับดอกเบี้ยมากกว่าไปลงทุนในหุ้น เมื่อไปถามส่วนใหญ่จะตอบว่า "กลัวขาดทุน" นักเศรษฐศาสตร์จึงหันมาให้ความสนใจศึกษาจิตวิทยาที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนของคน พบว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่จะเลือกเอาของที่ได้แน่ๆ แม้ผลตอบแทนน้อยมากกว่าการเสี่ยงที่มีโอกาสสูงว่าได้มากกว่า ลองยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ถ้าลองให้เลือกระหว่าง กรณีแรกที่ได้เงินแน่นอน 7,000 บาท กับกรณีที่สองให้ไปจับสลากที่มีโอกาส 75% ที่จะได้เงิน 10,000 บาท คนส่วนใหญ่จะเลือกเอา 7,000บาท แม้ว่าในทางคณิตศาสตร์แล้วโอกาส75% ที่จะได้เงิน 10,000 บาทนั้นให้ผลตอบแทนทางคณิตศาสตร์เท่ากับ 7,500 บาทซึ่งสูงกว่า

         ในทางกลับกัน มนุษย์มักจะเลือกที่จะเสี่ยงกับโอกาสน้อยๆ ที่จะได้ผลตอบแทนสูง แทนการที่จะได้รับผลตอบแทนแน่แต่น้อย ยกตัวอย่างคือ ถ้าให้เลือกระหว่าง (1)ได้เงิน 120 บาทแน่ๆ กับ (2) การลุ้นสลากที่มีโอกาส 1% ที่จะได้เงิน 10,000 บาท คนส่วนใหญ่จะเลือกลุ้นได้เงิน 10,000 บาท ทั้งๆ ที่การเสี่ยงโชคให้ผลตอบแทนทางคณิตศาสตร์เท่ากับ 100 ซึ่งน้อยกว่าการได้ 120 บาทแน่ๆ

 

         จากตัวอย่างข้างบนเราจะเห็นชัดเลยว่าจิตวิทยามีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและการลงทุน เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ใช้อารมณ์ตัดสินใจโดยไม่ได้คำนวณตามทฤษฎีทางคณิตศาสตร์อย่างแม่นยำทุกครั้ง ถึงแม้ว่าคำนวณแล้วก็รู้ว่าการเสี่ยงให้ผลตอบแทนสูงกว่าแต่ก็ยังเลือกที่จะไม่เสี่ยง ในสภาพแวดล้อมที่ผลตอบแทนพอประมาณเช่นในอดีตที่ดอกเบี้ยธนาคารสูง 3-4% คนส่วนใหญ่มักจะเลือกผลตอบแทนที่แน่นอนแทนการไปลงทุนในหุ้นที่ผลตอบแทนสูงกว่าแต่ไม่แน่นอน พอสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปผลตอบแทนลดต่ำลงมากคนจะเลือกไปเสี่ยงโชคมากขึ้น ปรากฎการณ์นี้เราก็กำลังเผชิญมันอยู่ในปัจจุบัน ที่พอดอกเบี้ยเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาลลดต่ำลงมาก ผู้ออมเงินหลายท่านก็เริ่มพิจารณาทางเลือกการลงทุนอื่นๆ มากขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่า search for yield ซึ่งในบางกรณีอาจมีความเสี่ยงอย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเตือนกันอยู่เนืองๆ ในมุมของอุตสาหกรรมการลงทุนแล้ว เรามองว่าการเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่พอประมาณและมีการกระจายตัวของการลงทุนนั้นเป็นสิ่งดี เพราะผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวสูงกว่าการฝากเงินหรือการซื้อพันธบัตร และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อสังคมไทยเริมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราก็หวังว่าผู้ออมหรือนักลงทุนจะได้มีเงินเพียงพอในวัยชรา ยามเกษียณไม่มีรายได้แล้วสามารถดูแลตนเองได้ไม่เป็นภาระกับผู้อื่น สังคม หรือภาครัฐ

         จำไว้นะครับ อย่ากลัวที่จะเสี่ยงกับการลงทุน หรือแม้การขาดทุนบ้างในระยะสั้น แต่พวกเราควรกลัวที่จะมีเงินไม่พอใช้ในยามแก่ตัวลง และเราก็ต้องตระหนักให้ดีว่าจิตวิทยาของเราอาจบิดเบือนให้เราตัดสินใจ เลือกทางเลือกที่ให้ผลตอบน้อยแต่ชัวร์ ทั้งๆ ที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่าแต่ต้องเสี่ยงเพิ่มขึ้นบ้าง ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด