Money DIY 4.0 by SCBAM : การลงทุนอย่างยั่งยืน กระแสใหม่ของการลงทุน

14 ธันวาคม 2564

          ความยั่งยืนเป็นกระแสนิยมระดับโลก จากปรากฎการณ์และความเสี่ยงในโลกยุคอุตสาหกรรม 4.0 เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัติ การขาดแคลนทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและทรัพยากรในสังคมที่นำไปสู่ความขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งการเอาเปรียบผู้บริโภค ทุจริต ฉ้อโกง และการคอรัปชั่น ล้วนมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินงานของธุรกิจ การลงทุน และการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแนวคิดในการพัฒนาด้านความยั่งยืน (Sustainable Development) จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกด้านการประกอบธุรกิจ-การลงทุน รวมถึงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตคนรุ่นเราและคนรุ่นหลังด้วย

          ความนิยมด้านการพัฒนาความยั่งยืน กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากภาคธุรกิจ หรือในกลุ่มนักลงทุนเอง จนเกิดเป็นกระแสนิยมทั่วโลกในระดับเมกะเทรนด์ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีสำหรับธุรกิจที่สามารถปรับตัว ปรับแผนธุรกิจ และนักลงทุนที่สามารถคว้าโอกาสด้านการลงทุนแบบยั่งยืนเพื่อรองรับการเติบโต และลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยด้าย ESG ที่อาจจะเข้ามาต่อธุรกิจ หรือการลงทุนได้

          บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งกำลังให้ความสนใจด้านการพัฒนาด้านความยั่งยืน ทั้งการเปิดเผยข้อมูลผ่านรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reports) การคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของการแผน และกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ (Business Model & Strategy) รวมไปถึงการเข้าร่วมกับองค์กร ความร่วมมือต่าง ๆ เช่น แผนพัฒนาความยั่งยืน โดยองค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) และการจัดตั้งเครือข่ายด้านความยั่งยืน เช่น Global Compact Network Thailand: GCNT ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วม 15 แห่ง โดยการนำปัจจัยด้านความยั่งยืนมาประกอบการดำเนินธุรกิจ สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตในระยะยาวจาก 3 เหตุผลด้วยกัน

  1. การเติบโตไปกับกระแสความยั่งยืน ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ขยายธุรกิจที่ส่งเสริมความยั่งยืน การลดการลงทุนในธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความยั่งยืน นำเสนอนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนให้กับลูกค้า จะสามารถสร้างความแตกต่างได้ โดยเฉพาะในตลาดที่อาจยังมีผู้เล่นน้อยราย
  2. การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการคำนึงถึงความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ เช่น การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ความยั่งยืนในการพัฒนาบุคลลากร และความพึงพอใจของลูกค้า จะเป็นการลดความเสี่ยงและความผันผวนของรายได้บริษัทในระยะยาว
  3. ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัย ESG ทั้งความเสี่ยงจากการดำเนินงาน หรือผลกระทบที่เกิดจากนโยบายจากการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย ESG หรือในเชิงความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทหากเกิดการทำผิดต่อปัจจัย ESG เช่น การคอรัปชั่น หรือการทุจริตในองค์กร


          การลงทุนผ่านกองทุนรวม เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยผลักดันให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น จากรายงานของ Morningstar พบว่านักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก โดยในปี 2563 มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ของกองทุนที่มีแนวคิดนี้ทั่วโลกขยับขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 1.65 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 29% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยไตรมาส 4 ของปี 2563 เพียงไตรมาสเดียว มีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนกลุ่มนี้ทั่วโลกสูงถึง 1.52 แสนล้านดอลลาร์

          ในขณะที่อุตสาหกรรมตลาดทุนไทย กลุ่มนักลงทุนสถาบันได้มีการสนับสนุนแนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investing) มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนปัจจัยด้าน ESG มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการร่วมประกาศเจตนารมณ์ ความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบของนักลงทุนสถาบัน (ESG Collaborative Engagement) ต่างก็เป็นการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น และที่สำคัญยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมกับเมกะเทรนด์นี้อีกด้วย

          ทั้งนี้ บลจ. ไทยพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมปัจจัยด้านความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และด้านธรรมาภิบาล มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของหลักการบริหารจัดการกองทุน ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมบริษัทที่มีการเติบโตที่ยั่งยืน โดยในปัจจุบันได้มีประเมิน SCBAM ESG Score สำหรับกลุ่มบริษัทจดทะเบียน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน สำหรับกองทุนรวมภายใต้การบริหารของ SCBAM และยังได้จัดตั้งกองทุน SCBTHAICG ซึ่งจะเป็นกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการเติบโตเชิงธุรกิจ และมีความใส่ใจด้านความยั่งยืนผ่านปัจจัย ESG อีกด้วย

          (อ้างอิง: Sheila Bonini and Stephan Görner, “The business of sustainability: McKinsey Global Survey results,” Oct 2011, mckinsey.com)

          ผลการดำเนินงานในอดีต มิใช่สิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการ ได้ที่ SCBAM Call Center โทร.02-777-7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด