มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : IFF ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย

12 มีนาคม 2561

         ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่มักจะมีการพูดถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ที่มีการจราจรคับคั่งตลอดเวลา รวมถึงการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือรางคู่ ที่รัฐบาลได้มีแผนก่อสร้างไปแล้ว หรือกำลังศึกษาข้อดี ข้อเสีย และความเป็นไปได้ในบางโครงการ นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้วนั้น ประเทศไทยยังจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อรองรับการพัฒนาและการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญโดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ เช่น แผนคมนาคมขนส่งของไทย ปี พ.ศ. 2558-2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขนาดใหญ่ทุกรูปแบบ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งภายในประเทศเพื่อให้เชื่อมโยงระหว่างเมืองหลักกับหัวเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาค อีกทั้ง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่ง การค้า และการลงทุนของภูมิภาคอีกด้วย

         โครงการขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่เมื่อพิจารณาภาระหนี้ของภาครัฐและความต้องการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องบริหารจัดการระดับหนี้สินของประเทศ โดยมองหาทางเลือกใหม่เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งเดิมได้มีการกู้เงินภายในประเทศหรือต่างประเทศกับสถาบันการเงินรายใหญ่ หรือระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อยโดยออกพันธบัตรออมทรัพย์เท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2554  เมื่อมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund หรือ IFF) ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ในการระดมทุนเพื่อการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการก่อหนี้สาธารณะ โดยหากรัฐวิสาหกิจมีการจัดตั้ง IFF จะไม่ถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะ และ IFF ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ผลักดันและสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพและมีความพร้อมทางการเงิน ระดมทุนผ่านการจัดตั้ง IFF อาทิเช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) ที่ได้จัดตั้งและระดมทุน ในปี พ.ศ. 2558 และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund ที่คาดว่าจะจัดตั้งและระดมทุน ในปี พ.ศ. 2561 นี้  

 

 

บางท่านอาจจะยังสงสัยอยู่ว่า IFF คืออะไรและดีอย่างไร?

         กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund หรือ IFF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากจากผู้ลงทุนทั่วไป ทั้งรายย่อยและสถาบัน เพื่อนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้างของประเทศไทย โดยกิจการโครงสร้างพื้นฐานต้องเป็นกิจการที่มีความจำเป็นและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ แต่อาจใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง การระดมทุนผ่าน IFF จึงสามารถช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณการลงทุนและการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐ ตลอดจนเป็นการเพิ่มบทบาทของตลาดทุนในการเป็นช่องทางในการระดมทุนของภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้ รวมไปถึงเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจให้กับนักลงทุนโดยทั่วไปด้วย โดยประเภทกิจการที่ IFF ลงทุนได้มีหลายประเภท ตัวอย่างเช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ระบบผลิตไฟฟ้า ประปา พลังงาน ระบบขนส่งทางราง (รถไฟและรถไฟฟ้า) ทางพิเศษ ท่าอากาศยานหรือสนามบิน และท่าเรือ เป็นต้น

         IFF ถือเป็นกองทุนรวมปิด ที่มีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2,000 ล้านบาท โดยสามารถเข้าลงทุนด้วยวิธี (1) ลงทุนโดยตรงในทรัพย์สินผ่านการถือครองกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะเหมาะสมกับทรัพย์สินที่สามารถโอนความเป็นเจ้าของได้ เช่น ทรัพย์สินของภาคเอกชน (2) ลงทุนในสัญญาแบ่งรายได้/สิทธิการเช่าในทรัพย์สิน ซึ่งจะเหมาะสมกับทรัพย์สินของภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และ (3) ลงทุนโดยการเข้าถือหุ้นของบริษัทที่ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ IFF สามารถลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ (Greenfield Project) ได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 30% ของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุน แต่หากเกินสัดส่วนดังกล่าวจะต้องเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น

         ปัจจุบันประเทศไทยมี IFF ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วทั้งสิ้น 6 กองทุน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 250,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม 2561) ซึ่งเป็น IFF ที่ลงทุนในกิจการด้านโทรคมนาคม โรงไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชนทางราง นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อระดมเงินทุนจากภาคเอกชนทั้งสถาบัน และรายย่อย เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมถึงกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดตั้งและเสนอขายหน่วยลงทุนต่อไป

         แม้ว่า IFF ถือเป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ตอบโจทย์ในช่วงที่บ้านเมืองกำลังต้องการการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ IFF  ยังมีข้อจำกัดบางประการ ที่อาจทำให้ IFF ถูกลดความน่าสนใจจากผู้ระดมทุนได้ อาทิเช่น ข้อจำกัดในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ความไม่แน่นอนในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการของ IFF และด้านผู้ลงทุนเอง ก็มีข้อจำกัดในเรื่องการยกเว้นภาษีให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนรายย่อยเพียง 10 ปี นับจากวันจดทะเบียนจัดตั้ง IFF ข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นความท้าทายของภาครัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจต้องพิจารณาออกหรือปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้ภาครัฐและภาคเอกชนพิจารณาระดมทุนผ่านการจำหน่ายทรัพย์สินหรือสิทธิในกระแสรายได้เข้า IFF มากขึ้น

         จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผมมองว่า สำหรับประชาชนนอกจากจะได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้แล้ว IFF ยังถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน นอกเหนือจากการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ส่วนผลตอบแทนขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุน และประเภทของการลงทุนของ IFF แต่ละกองทุน แต่โดยรวมนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยนะครับสำหรับบทความในตอนต่อไป ผมจะมาลองมาวิเคราะห์ในรายละเอียดกันว่า IFF นั้นมีประโยชน์ในต่อหน่วยงานต่าง ๆ  อย่างไรบ้าง เช่น ต่อรัฐบาล ต่อภาคเอกชน และต่อผู้ลงทุนเอง รวมถึงข้อจำกัดและความท้าทายต่าง ๆ ที่ทำให้กองทุนประเภทนี้ ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ในประเทศไทยกันนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด