มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ทิศทางนโยบายทางการเงินของโลกปี 2562

10 กรกฎาคม 2562

       จากจุดเริ่มต้นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561  หลังจากนั้นเป็นต้นมาพายุแห่งสงครามก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเริ่มส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งยังแผ่ขยายไปยังเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ไปทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลายๆ แห่งของโลกต้องเปลี่ยนการดำเนินนโยบายทางการเงินจากนโยบายการเงินแบบรัดกุมตลอดทั้งปี 2561 เปลี่ยนมาเป็นนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทั้งการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมไปถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  พร้อมทั้งการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

       อย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)  ในการประชุมนโยบายทางการเงินล่าสุดในเดือน มิ.ย. 62 ที่ผ่านมาถึงแม้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม แต่ก็ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากกว่าครั้งก่อนว่าพร้อมลดดอกเบี้ยลงหากมีความจำเป็นท่ามกลางความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตลาดคาดจากปัจจัยทางด้านสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีทีท่าจะหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งโลกชะลอตัวลง โดยตลาดคาดการณ์ไปถึงว่า FED จะลดดอกเบี้ยลงอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือน ก.ค. 62 และอาจจะลดดอกเบี้ยลงถึง 3 ครั้ง ไปจนถึงต้นปี 2563 เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามการค้า นอกจากนั้น FED  ยังได้ประกาศในการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ว่าจะปรับเปลี่ยนการลดขนาดงบดุลให้เสร็จสิ้นเร็วขึ้นมาเป็นสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 62 จากปลายปี 2562  

       อย่างเช่นเดียวกันธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมนโยบายทางการเงินในเดือน มิ.ย.62 ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม แต่อย่างไรก็ตาม ECB ได้ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกออกไปอีกจาก “สิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย” ไปเป็น “กลางปี พ.ศ. 2563 เป็นอย่างน้อย”  เนื่องจากยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงที่ยังคงต้องจับตามองเช่นเดียวกับสหรัฐฯ  รวมทั้งยังมีความไม่แน่นอนจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่ยังคงหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้เช่นกัน  ขณะที่ล่าสุด (18 มิ.ย.62) นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงินโดยการจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงกลับมาทำการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว นอกเหนือจากกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการปล่อยเงินกู้รีไฟแนนซ์ระยะยาวรายไตรมาสครั้งที่ 3 (TLTRO-III) ที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบโดย ECB จะปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารต่างๆ เพื่อให้ธนาคารเหล่านี้ปล่อยสินเชื่อแก่ผู้บริโภค และนักลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ   ขณะที่นโยบายการเงินของประเทศกำลังพัฒนา (Emerging markets) อื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินเดีย รวมทั้งประเทศไทย ก็มีทีท่าผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเช่นกัน หลังจากที่โดนผลกระทบจากสงครามการค้า และอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและของโลกที่ชะลอตัวลง โดย ณ ปัจจุบันมีธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงบ้างแล้ว

 

ธนาคารกลาง การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2562 (ร้อยละ)
 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) -
 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) -
 ธนาคารทุนสำรองอินเดีย (RBI) -0.75
 ธนาคารเนการามาเลเซีย (BNM) -0.25
 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) -0.25
 ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (BOT) -

  *ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิ.ย. 62

       สำหรับประเทศไทย นักวิเคราะห์ต่างก็มีมุมมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ไปตลอดทั้งปี 2562  เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศ

       จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยเผชิญความท้าทายมากยิ่งขึ้นเนื่องจากในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวลดลงมากกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (Bull flattening) ขณะที่นักลงทุนยังคงต้องการได้อัตราผลตอบแทนเท่าเดิม ซึ่งนั่นคือการบ้านที่สำคัญของเรา ที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์เพื่อสร้างอัตราผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนต่อไปครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด