Money DIY 4.0 by SCBAM : ลงทุนอย่างชาญฉลาดในปี 2024 เตรียมพร้อมรับคลื่นลมแห่งความท้าทาย

5 มีนาคม 2567

            ปี 2024 ยังมีหลายความท้าทายที่โลกการเงินและการลงทุนยังต้องพบอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งความท้าทายดังกล่าวเป็นสถานการณ์และเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อ โดยเฉพาะใน 3 มิติหลัก นั่นคือ (1) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) : ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงดำเนินอยู่ และโอกาสการเกิดข้อขัดแย้งใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เกี่ยวกับประเด็นไต้หวัน รวมถึงความไม่สงบในตะวันออกกลางและหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งล้วนมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงต้นทุนพลังงาน อาหาร และโลหะอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายชนิด (2) ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ: แม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักจะเริ่มชะลอตัวลง แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านยังคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อที่ร้อนแรงอาจย้อนกลับมาอีกรอบได้ในปีนี้ ซึ่งความไม่แน่นอนนี้อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดอย่างมีนัยสําคัญ (3) ความเสี่ยงทางการเมืองในหลายประเทศ: การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในหลายประเทศ ต่างมีแนวโน้มให้ผลลัพธ์ที่คาดเดาได้ยาก และอาจส่งผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาล รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศนั้นๆ ได้ นอกเหนือจากปัจจัยในข้างต้นแล้ว อาจมีสถานการณ์อื่นๆ ที่ไม่คาดคิด เช่น การระบาดของไวรัสใหม่, ภัยธรรมชาติรุนแรง, สงครามการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ก็อาจเป็นความเสี่ยงซ้อนที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

9 ปัจจัยระดับมหภาคสำคัญ ตัวแปรช่วยกำหนดกลยุทธ์การลงทุน

            การลงทุนที่ดีควรมีการติดตามข้อมูลและประเมินสถานการณ์ของเศรษฐกิจตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ทันท่วงที ในเวลาที่เกิดปัจจัยลบเข้ามากระทบตลาดหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่มีสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์มาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะมี 9 ปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ

  1. **อัตราเงินเฟ้อ** ที่หากอยู่ในอัตราที่สูงมาก ก็จะกัดกร่อนมูลค่าที่แท้จริงของการลงทุนได้ โดยเฉพาะช่วงที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ลงทุนในสินทรัพย์ที่ปกติแล้วจะทำงานได้ดีในช่วงภาวะเงินเฟ้อ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นในภาคส่วนที่มีอำนาจในการกำหนดราคา
  2. **อัตราดอกเบี้ย** การปรับเพิ่ม-ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง มักมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและยังเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งการลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำอาจส่งผลดีต่อพันธบัตรและหุ้นที่เน้นให้เงินปันผล
  3. **การเติบโตของ GDP** การประเมินอัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศที่ลงทุน กระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนข้ามประเทศเพื่อลดความเสี่ยง และเจาะเข้าสู่ภูมิภาคที่มีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง
  4. **อัตราการว่างงาน** ซึ่งหากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ พิจารณาการลงทุนเชิงรับ เช่น หุ้นสาธารณูปโภคหรือพันธบัตรรัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าว
  5. **อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน** เพราะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะความตึงเครียดทางการค้า ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากสกุลเงิน โดยการกระจายการถือครองสกุลเงินในหลายสกุล หรือใช้เครื่องมือทางการเงินป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
  6. **ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค** หากตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่สูงเกินไป ก็มักจะนำไปสู่การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนและบริษัทที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
  7. **นโยบายการค้า** ติดตามนโยบายการค้าและอัตราเก็บภาษีศุลกากร เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการค้าโลกอย่างมาก กระจายการลงทุนข้ามบริษัทที่มีการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  8. **นโยบายของรัฐบาล** และกฎระเบียบของรัฐบาล แนวทางการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษี กฎระเบียบของอุตสาหกรรม หรือมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่อาจมีผลกระทบต่อภาคส่วนและธุรกิจเฉพาะ
  9. **ราคาสินค้าโภคภัณฑ์** รวมถึงน้ำมัน และโลหะมีค่า ที่อาจได้รับอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญจากเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และความตึงเครียดทางการค้า การจัดสรรพอร์ตลงทุนส่วนหนึ่งกับสินทรัพย์เชิงรับ เช่น ทองคำ พันธบัตรดอลล่าสหรัฐฯ หุ้นปันผล จะสามารถเป็นที่หลบภัยในช่วงเวลาที่เกิดความวุ่นวายภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ อาจเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน เพื่อใช้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจ การผลิต และการจัดจำหน่ายก็จะได้รับประโยชน์

           อย่างไรก็ดี ในปี 2024 โลกการลงทุนอาจยังพบกับความผันผวน และความไม่แน่นอนของทิศทางลงทุน คล้ายกับการเดินทางในมหาสมุทรที่อาจต้องพบกับคลื่นลม ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้สามารถเดินหน้าฝ่าฟันพ้นความไม่แน่นอนต่างๆ ต่อไปได้อย่างมั่นคง อีกทั้ง การลงทุนจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น อดทน และเลือกใช้ยุทธวิธี รวมถึงทักษะการลงทุนในการรับมือกับสถานการณ์ เช่น หมั่นศึกษาหาความรู้และวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบคอบทุกด้านเพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงและโอกาส การกระจายความเสี่ยงลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ ตั้งเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว ไม่ติดกับดักการเก็งกําไรระยะสั้นมากจนเกินไป มีสติ สังเกตการณ์ และพร้อมปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และสุดท้าย เลือกลงทุนในกองทุนหุ้น Defensive หรือหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ เช่น กองทุน Low Beta ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนหุ้นทั่วไป ก็จะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาวได้

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน 
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด