SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 21-25 มิ.ย. 2564

21 มิถุนายน 2564

“Fed มีท่าที Hawkish ขึ้นมากกว่าตลาดคาด”

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจาก Fed มีทิศทางนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้น เป็นผลมาจากความกังวลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยคณะกรรมการได้เริ่มหารือถึงแผนการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) ซึ่งแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นนี้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Dollar index) แข็งค่าขึ้น และเป็นปัจจัยกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทองคำในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ตลาดโดยรวมยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในหลายประเทศ เนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน โดยล่าสุดประเทศพัฒนาแล้วฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 52.23% และ 44.76% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ขณะที่ประเทศภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ฉีดไปแล้ว 24.51%, 15.23%, 15.06% และ 7.09% ตามลำดับ

Fed คงนโยบายการเงินเดิมตามคาด แต่มีท่าที Hawkish ขึ้นมากกว่าตลาดคาด แม้คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ในคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด แต่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot plots) ถูกปรับขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนที่ Fed ส่งสัญญาณจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบัน (0-0.25%) ไปจนถึงสิ้นปี 2023 มาเป็นคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยถึงสองครั้งเป็น 0.5-0.75% ณ สิ้นปี 2023 ประกอบกับคณะกรรมการได้เริ่มปรึกษาถึงการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) ซึ่งตลาดคาดว่า Fed อาจส่งสัญญาณ QE Taper เบื้องต้นในการประชุม Jackson Hole Symposium วันที่ 26-28 ส.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมของ FOMC ในวันที่ 21-22 ก.ย. และคาดจะเริ่มลดจริงในช่วงต้นปี 2022

ยอดผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims) เพิ่มขึ้น 3.7 หมื่นราย เป็น 4.12 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มิ.ย. อย่างไรก็ดี คาดว่าตลาดแรงงานยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการเปิดทำการของภาคธุรกิจและภาคการบริการ หลังการแจกจ่ายวัคซีนเป็นวงกว้างมากขึ้น

ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. ของสหรัฐฯ พลิกกลับมาหดตัวที่ -1.3% MoM แย่กว่าที่ตลาดคาดที่ -0.8% MoM จากตัวเลขเดือนก่อนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายในภาคบริการ เช่น ท่องเที่ยวและสถานบันเทิงมากขึ้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวไม่ได้นับรวมการในหมวดยอดค้าปลีก

ปรับคำแนะนำจากเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็นคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากเรื่องการแพร่ระบาด COVID-19 อยู่ อีกทั้งการฉีดวัคซีนในประชาชนหมู่มากได้ถูกเลื่อนออกไป ทำให้การเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่อาจช้าออกไปกว่าที่คาด

ปรับคำแนะนำจากคงน้ำหนักการลงทุนเป็นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเกาหลี จากราคา Semiconductors มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาคการส่งออกโดยเฉพาะด้าน Semiconductors ได้รับผลเชิงบวก อีกทั้งความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว ประกอบกับแผนการเปิดประเทศ เป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส แอคทีฟ (SCBUSAA)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี (SCBKEQT)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ธนอนันต์ (SCBDA)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET BANKING SECTOR INDEX (SCBBANKING)

“ขาย”กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (SCBSE)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส ดีเจไอ (SCBDJI(A))

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ (SCBGOLDH)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500)

“สับเปลี่ยนกองทุน” ออกจากกองทุนฯ ตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (SCBSFFPLUS-I) เข้ากองทุนฯ ตราสารหนี้ พลัส (SCBFP)