SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 9-16 เม.ย. 2564

9 เมษายน 2564

“IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ขึ้น”

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ทั่วโลกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 32.89% และ 13.84% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ประกอบกับแผนการลงทุนระยะยาวของสหรัฐฯ ด้วยวงเงินประมาณ 3-4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักด้วยวงเงิน 2.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งจะเปิดเผยแผนลงทุนระยะยาวก้อนที่สอง American Family Plan วงเงินราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือน เม.ย. ซึ่งจะเน้นการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีโอกาสฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจาก Bond Yield ระยะยาวที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ตัวเลขดัชนี Composite PMI เดือน มี.ค. ของประเทศหลักส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีรวมของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม +7.9 จุด เป็น 63.8 จุด จากภาคบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก +8.4 จุด เป็น 63.7 จุด เนื่องจากแรงหนุนด้านการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ส่วนตัวเลขดัชนีรวมของยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก +4.4 จุด เป็น ระดับที่ 53.2 จุด ซึ่งกลับเข้าสู่เกณฑ์ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน รวมถึงดัชนีรวมของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก +1.4 จุด เป็นระดับ 53.1 ตามภาคบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นระดับที่ 54.3 จุด ขณะเดียวกันดัชนีรวมญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น +1.7 จุด เป็น 49.9 จุด จากการผ่อนคลายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นถึง 9.16 แสนตำแหน่ง ซึ่งสูงสุดในรอบ 7 เดือนและสูงกว่าที่ตลาดคาดอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นในหมวดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ได้แก่ การโรงแรมและพักผ่อน การจ้างงานภาคการศึกษาและค้าปลีก ขณะที่อัตราการว่างงานปรับลดลงเป็น 6.0%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ขึ้น โดย IMF ปรับการคาดการณ์เพิ่มขึ้น +0.5% จากประมาณการครั้งก่อนในเดือน ม.ค. ที่ 5.5% เป็น 6.0% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ และการแจกจ่ายวัคซีนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ IMF ยังระบุว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะกลางจากวิกฤตครั้งนี้ไม่รุนแรงเท่าวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 10 ปีก่อน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลง โดยตัวเลขปรับตัวลดลงจาก 49.4 เป็น 48.5 จุด จากการที่การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง อีกทั้งยังมีการระบาดเพิ่มเติมอีกระลอกในช่วงต้นเม.ย. อาจจะเป็นปัจจัยกดดันตัวเลขเศรษฐกิจในระยะถัดไป

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลโรโบติกส์ (SCBROBOA)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม (SCBFIN)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ไทยอิควิตี้ (SCBTEQ)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียนอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ (SCBAEM)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี (SCBKEQTG)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ อินคัม (SCBINC)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET 50 INDEX (SCBSET50)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นตลาดเกิดใหม่ (SCBEMEQ)