SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 5 - 9 ต.ค. 2563

5 ตุลาคม 2563

“ตลาดหุ้นโลกฟื้นตัวหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯปรับตัวดีกว่าคาด”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่กลับมาปรับตัวดีขึ้น Biden ได้รับคะแนนความนิยมเพิ่มขึ้นหลังการโต้วาทีรอบแรก อย่างไรก็ดีจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนให้เห็นจากตัวเลข PMI ประเทศหลักฟื้นตัวดีขึ้นและยังอยู่ในแดนขยายตัว และมีความหวังว่าพรรคเดโมแครตและพรรครีพับริกันจะสามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิดฉบับใหม่ได้ แม้ว่าจากอาทิตย์ก่อนหน้าที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาค่อนมากจากความกังวลจากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในยุโรป จนทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง ประกอบกับการปรับลงของหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่

WTO อนุมัติให้ EU ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ โดยให้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐมูลค่า 4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมุ่งเป้าที่จะปรับภาษีนำเข้ากับอุตสาหกรรมถ่านหิน การเกษตร การประมง เพื่อโต้ตอบที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินอุดหนุนบริษัท Boeing อย่างไม่เป็นธรรมจริง ทำให้ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนก.ย. ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคConference Board ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 15.5 จุด เป็นระดับที่ 101.8 จุด นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 17 ปี  จากผลสำรวจการใช้จ่ายด้านการซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือนและรถยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน ก.ย. ของยุโรปฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.6 จุด เป็นระดับที่ 91.1 จุด ซึ่งนับเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตมีแนวโน้มดูดีขึ้นประกอบความกังวลต่อการว่างงานที่ลดลง  

ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตประเทศหลักอย่างเป็นทางการเดือน ก.ย. ยังอยู่ในแดนขยายตัว โดยดัชนีของ สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.5 จุด มาอยู่ที่ระดับ 55.4 จุด ดัชนีโดย Caixin ปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.1 จุด เป็น 53.0  และขณะที่ดัชนียูโรโซน ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.0 จุด เป็น 53.7 จุด สูงสุดในรอบ 2 ปี  จากผลผลิต ยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ยังคงฟื้นตัว และการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ปรับคำแนะนำจากคงน้ำหนักการลงทุนเป็นลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็น 12% ของ GDP ยังคงซบเซาจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทางข้ามพรมแดน ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญยังคงปรับลดลงต่อเนื่องในเดือนส.ค.  นำโดย Manufacturing Production Index ปรับลดลง -9.3% YoY และ Private Investment Index ปรับลดลง -4.6% YoY ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายออกหุ้นไทยอยู่ที่ 278,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี

ปรับคำแนะนำจากคงน้ำหนักการลงทุนเป็นลดน้ำหนักการลงทุนในน้ำมัน จากการกลับมาระบาดของ COVID-19 ระลอก 2 โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้กลุ่มประเทศดังกล่าวกลับมาเพิ่มความเข้มงวดมาตรการ Lockdown อีกครั้ง เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบ เห็นได้จากตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันทรงตัวอยู่ที่ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับตัวลดลงราว -9% YoY โดยการฟื้นตัวได้หยุดชะงักไปตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

 

กลยุทธ์การลงทุน

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ดัชนี SET (SCBSET)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ออยล์ (SCBOIL)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปสมอลแคป (SCBEUSM)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลโรโบติกส์ (SCBROBOA)