กลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 3/2023 ตลาดหุ้นโลกยังมีความน่าสนใจในการลงทุน ในภาวะที่ดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด (End of rate hike cycle) เพราะเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ด้านภาวะเศรษฐกิจ เราประเมินว่า มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่ Recession น่าจะยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ (Late Cycle) เมื่อพิจารณาจากดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลกใน 3Q23 ไม่น่าจะโดดเด่นเหมือนกับช่วง 1H23 ที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างดี และต้องติดตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หากออกมาต่ำกว่าคาด อาจทำให้เกิดแรงขายทำกำไรตามมา กองทุนแนะนำสำหรับไตรมาส 3/2023 อยู่บน 4 ประเด็นการลงทุน ได้แก่ (1) Big Tech Growth หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (SCBNDQ, SCBDIGI) (2) Thematic ที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว (SCBEV, SCBTRAVEL, SCBSEMI) (3) High Quality Income กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ (SCBINC) และ (4) กระจายความเสี่ยงเมื่อมีความไม่แน่นอน (SCBGOLD, SCBFST)
เมื่อดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สุดทาง (Peak of rate hike cycle)
ถึงแม้ท่าทีล่าสุดของประธาน Fed จะยังออกไปในทางคุมเข้มนโยบายทางการเงินต่อ (Hawkish tone) เพื่อให้แน่ใจว่าทิศทางเงินเฟ้อจะกลับลงไปสู่ระดับใกล้เคียงเป้าหมายที่ 2% ในอนาคต แต่ก็ย้ำชัดเจนถึงการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าที่จะเน้นพิจารณาชุดข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจเป็นหลัก (Data Dependent) โดยข้อมูลสำคัญที่ใช้พิจารณาอย่างอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐฯ (Core PCE) ล่าสุดยังคงชะลอตัวลงและมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อในไตรมาสนี้ (Fig.1) หากประเมินจากดัชนีชี้นำอย่าง M2 growth ที่มักจะชี้นำแนวโน้มเงินเฟ้อล่วงหน้าราว 18 เดือนหรือดัชนีค่าเช่าบ้าน Zillow Rent Index ที่มักจะชี้นำเงินเฟ้อในส่วนของค่าเช่าต่างปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องแล้วทั้งสิ้น (Fig.2 & Fig.3) ขณะที่ค่าจ้างแรงงานก็เติบโตชะลอตัวลงจนอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลมากนัก (Fig.4) ดังนั้นเราจึงมองว่าแนวโน้มดอกเบี้ยน่าจะเข้าใกล้ระดับสูงสุดแล้ว อาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งเป็นอย่างมากแต่คาดว่าจะเริ่มกระทบต่อสินทรัพย์ทางการเงินจำกัด
เศรษฐกิจอยู่ในช่วงปลายวัฏจักร แต่ Recession ไม่น่าเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
แม้มีความกังวลว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นในสหรัฐฯ หลังจากภาคธนาคาร เผชิญปัญหาสภาพคล่อง แต่จากข้อมูลเศรษฐกิจที่รายงานออกมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้บ่งชี้ว่าจะเกิด Recession ในระยะเวลาอันใกล้ เมื่อพิจารณาจากดัชนีเศรษฐกิจสำคัญที่ทางหน่วยงาน National Bureau of Economic Research หรือ NBER ใช้ประเมิน (NBER เป็นหน่วยงานของสหรัฐฯ ที่จะประกาศว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ อย่างเป็นทางการ) ก็พบว่ายังไม่ใกล้เคียงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นในเร็ววัน (Fig.5) ประกอบกับดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมที่เริ่มออกมาดีกว่าคาดต่อเนื่อง (Fig.6), ระดับเงินออมส่วนเกินของคนสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูงช่วยลดความเสี่ยงขาลงจากเศรษฐกิจชะลอตัว (Fig.7) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (ISM) ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคผลิตชะลอตัวแต่บริการยังแข็งแกร่งอยู่ในโซนขยายตัว (Fig.8) ปัจจัยดังกล่าวสนับสนุนมุมมองของเราว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงปลายวัฏจักร (Late Cycle)ต่อไปอีกสักระยะมากกว่าที่จะเข้าใกล้สภาวะถดถอยหรือ Recession อย่างที่นักลงทุนบางส่วนกังวล
เมื่อสภาพคล่องในระบบลดลงจากระดับสูง
Fed ยังคงดูดสภาพคล่องออกจากระบบผ่านการลดขนาดงบดุลหรือ QT (Quantitative Tightening) อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ ช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาส่งผลให้ Fed จำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือให้แก่ระบบธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหาผ่าน Discount Window Lending, Bank Term Funding Program (BTFP) และทำงานร่วมกับสถาบันคุ้มครองเงินฝากหรือ FDIC เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน เป็นต้น ส่งผลให้ขนาดงบดุลของ Fed กลับมาเพิ่มขึ้น (สภาพคล่องเพิ่มขึ้น) แทนที่ควรจะลดลงตามแผนการทำ QT (Fig.9) อย่างไรก็ตาม สำหรับครึ่งหลังของปีนี้ เรามองว่ามีแนวโน้มที่ขนาดงบดุลของ Fed จะเริ่มกลับมาลดลงอีกครั้ง (สภาพคล่องลดลง) หลังวิกฤติสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์คลี่คลายลง สะท้อนจากระดับเงินฝากในธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ โดยรวมเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น (Fig.10) ดังนั้น Fed จึงน่าจะลดมาตรการช่วยเหลือลงส่งผลให้ขนาดงบดุลจะเริ่มกลับมาลดลงตามแผน QT กดดันสภาพคล่องและทิศทางตลาดหุ้นภาพรวมมากขึ้น จากสภาพคล่องที่มีแนวโน้มลดลงจากเหตุผลข้างต้น เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาคัดเลือกกลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีเพื่อที่จะสร้างโอกาส outperform ตลาดหุ้นโดยรวม
ผลตอบแทนในช่วงดอกเบี้ยหยุดขึ้นและเศรษฐกิจไม่ถดถอย
หากพิจารณาจากช่วงจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นสหรัฐฯ โดยเป็นช่วงระหว่างหลังขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายแต่ก่อนการกลับไปลดดอกเบี้ยครั้งแรกและเศรษฐกิจยังไม่ถดถอยในอดีต 3 ครั้งหลังสุดซึ่งได้แก่ช่วงปี 2000, 2007-08 และ 2018 จะพบว่าทั้งกลุ่มตราสารหนี้โลกและกลุ่มตราสารหนี้สหรัฐฯ สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ทั้ง 3 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว (Fig.11&12) ส่วนตลาดหุ้นโลกรวมถึงกลุ่มหุ้นคุณภาพสูง, ดัชนี NASDAQ100 และ ดัชนี SOX (PHLX Semiconductor Index) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราแนะนำนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงเวลาดังกล่าวได้ 2 จาก 3 ครั้ง (Fig.13-16) โดยดัชนี SOX จะมีความผันผวนในแต่ละรอบสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ จึงเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง
ติดตาม Earnings ลุ้นหุ้นวิ่งต่อ
เรามองว่า ปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ งวดไตรมาส 2/2023 ที่มีกำหนดทยอยรายงานระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. สถิติในอดีต พบว่า ราคาหุ้นมักทำจุดต่ำสุดก่อนกำไรจะถึงจุดต่ำสุด ส่งผลให้การฟื้นตัวของตลาดหุ้นในช่วงแรกหลังผ่านจุดต่ำสุดจะขับเคลื่อนด้วยระดับ มูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นหรือหุ้นจะแพงขึ้น (Multiple Expansion) ก่อนที่กำไรจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นมาช่วยหนุนการปรับตัวของราคาหุ้นต่อในระยะถัดไป (Fig.17) ดังนั้น หากฤดูกาลรายงานงบรอบนี้ นักวิเคราะห์ไม่ได้ปรับประมาณการลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็น่าจะช่วยยืนยันว่าแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตามราคาหุ้นที่ผ่านจุดต่ำไปก่อนแล้วตั้งแต่เดือนต.ค.เมื่อปีที่ผ่านมา
กองทุนแนะนำ ไตรมาส 3/2023
กองทุนแนะนำ อยู่บน 4 ธีมการลงทุนด้วยกัน (Fig.18) ได้แก่
• Big tech Growth : กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีลักษณะสำคัญเหมือนกันตรงที่มีกระแสเงินสดเยอะ, หนี้สินน้อยและมีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ ถือว่ามีคุณสมบัติความเป็นหุ้นคุณภาพสูงซึ่งจะสามารถทนทานต่อสภาวะปัจจุบันที่ระดับเงินเฟ้อสูง/ดอกเบี้ยสูงและเศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ดีกว่าตลาดโดยรวม นอกจากนี้กระแส AI Boom ยังช่วยหนุนคาดการณ์การเติบโตเพิ่มขึ้น กองทุนแนะนำได้แก่ SCBNDQ และ SCBDIGI
• heme on Spotlight : กองทุน Thematic ที่คาดว่าจะมี Story Growth ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มหุ้นท่องเที่ยวทั่วโลกผ่านกองทุน SCBTRAVEL ที่เราคาดว่าจะได้ประโยชน์จากฤดูกาลท่องเที่ยวในฝั่งตะวันตกและการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของนักท่องเที่ยวจีนหลังเปิดเมือง โดยกลุ่มหุ้นท่องเที่ยวยังสามารถเติบโตระยะยาวจากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวใช้ชีวิตมากขึ้นอีกด้วย กลุ่มที่สองได้แก่กลุ่มหุ้นอุตสาหกรรม EV ผ่านกองทุน SCBEV ที่คาดว่ายอดขายจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในระยะสั้นหลังความตึงเครียดของสงครามราคาดูผ่อนคลายลงและเศรษฐกิจที่คาดว่าจะถดถอยถูกเลื่อนออกไป ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการกลับมาบริโภคมากขึ้น ขณะที่คาดการเติบโตระยะ 3-5 ปีข้างหน้ายังอยู่ระดับสูงจากการเปลี่ยนผ่านจากรถสันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้าโดยมีภาครัฐทั่วโลกสนับสนุน กลุ่มสุดท้ายได้แก่กลุ่มหุ้น Semiconductor ผ่านกองทุน SCBSEMI ที่เราคาดว่าจะได้แรงหนุนจากกระแส AI Boom และรอบวัฏจักรสินค้าคงคลังในกลุ่ม Semi ที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสสองที่ผ่านมา ส่วนการเติบโตระยะยาวยังน่าสนใจจากการเติบโตตาม AI, Data Center, IOTs, Electric Vehicles (EV) และ Autonomous Vehicles (AV)
• High Quality Income : SCBINC (กองทุนตราสารหนี้โลก) ที่มีนโยบายการบริหารเชิงรุกจากทีมผู้จัดการกองทุนระดับโลกที่มีประสบการณ์และชื่อเสียงในการบริหารกลุ่มตราสารหนี้มาอย่างยาวนานอย่าง PIMCO โดยกองทุนดังกล่าวมีจุดเด่นเรื่องการลงทุนที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่นสูงเพื่อเฟ้นหากระแสเงินสดในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ สอดคล้องกับสภาวะดอกเบี้ยใกล้ผ่านจุดสูงสุดและปลายวัฏจักร นอกจากนี้ระดับดอกเบี้ยเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มตราสารหนี้ทั่วโลกอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีมากแล้ว (Fig.19) จึงน่าสนใจสำหรับการถือลงทุนระยะยาว
• Uncertainty Buffer : SCBGOLD (กองทุนทองคำ) และ SCBFST (กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศระยะสั้น) ถือเป็นกองทุนที่เอาไว้ใช้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตและช่วยลดความผันผวนได้ดี หากเกิดเหตุการณ์เชิงลบที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของเรา สัดส่วนลงทุนแนะนำ ประมาณ 5-10% ของพอร์ตลงทุน
กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้าเงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 02-777-7777 กด 0 กด 6 www.scbam.com
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และขอรับหนังสือชี้ชวน ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 02-777-7777 www.scbam.com