คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : เอลนีโญ และลานีญา ผลกระทบกับสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร

26 พฤษภาคม 2559

       ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาโลกเราต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ทำให้น้ำทะเลบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้นกว่าปกติ ก่อให้เกิดฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้และเกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย โดยเอลนีโญที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จัดอยู่ในระดับรุนแรงมาก (Very Strong El Niño) ซึ่งเคยเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้ง คือในปี ค.ศ. 1982 1997 และล่าสุดปี 2015 -ปัจจุบัน อากาศที่แปรปรวนดังกล่าวทำให้เกิดภัยธรรมชาติในหลายประเทศ อาทิ เหตุการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงในรอบ 50 ปี ในหลายประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ หรือวิกฤติไฟป่าที่อินโดนีเซีย

       นอกจากนี้เอลนีโญยังได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปริมาณฝนที่มากขึ้นในภูมิภาคอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายใหญ่ ทำให้ผลผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยของผู้ปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 2-5% อีกทั้งราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของกากถั่วเหลือง (Soybean Meal Futures) นับตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2015 ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันความแห้งแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ก่อให้เกิดความกังวลในปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน (ซึ่งผลผลิตจากมาเลเซียและอินโดนีเซียคิดเป็นกว่า 85% ของผลิตทั่วโลก) ทำให้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปาล์มน้ำมัน (Crude Palm Oil Future) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

       ปัจจุบันโลกได้ผ่านจุดร้ายแรงของเอลนีโญไปแล้ว แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์กำลังจับตามองคือการปรากฏตัวของแฝดคนละฝาของเอลนีโญที่เรียกว่าลานีญา (La Niña) ซึ่งโดยปกติลานีญาจะส่งผลตรงข้ามกับเอลนีโญ กล่าวคือน้ำทะเลบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกจะเย็นกว่าปกติ ก่อให้เกิดความแห้งแล้งในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้และฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ตามสถิติในอดีตการเกิดขึ้นของเอลนีโญไม่จำเป็นต้องตามด้วยลานีญาเสมอไป แต่การเกิดเอลนีโญระดับรุนแรงมักทำให้เกิดลานีญาเร็วกว่าปกติ โดยนักวิเคราะห์จาก Commodity Weather Group คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่โลกจะเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งปีหลัง คำถามที่ตามมาคือลานีญาจะส่งผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรอย่างไร?

       ด้วยอากาศที่แห้งแล้งมากขึ้นในสหรัฐฯ และตอนเหนือของภูมิภาคอเมริกาใต้ จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มธัญพืช (Grain) เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี โดยนักวิเคราะห์จาก CME Group ตั้งข้อสังเกตว่าราคาสินค้าดังกล่าวมักจะมีราคาสูงขึ้นในช่วงลานีญาญ่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปกติ โดยการเกิดลานีญาญ่าครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2012 ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดทำสถิติต่ำสุดในรอบ 17 ปี เหลือเพียง 123 บุชเชลต่อเอเคอร์ (bushels per acre) เทียบกับผลผลิตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1995-2015 ที่ 144 บุชเชลต่อเอเคอร์

       ในขณะที่ LMC International ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจด้านสินค้าโภคภัณฑ์วิเคราะห์ว่าหากเกิดลานีญาในครึ่งปีหลัง จะทำให้เกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งแม้จะดีต่อผลผลิตน้ำมันปาล์มแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต  โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาส 3 จนถึงเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงที่มีผลผลิตมากที่สุด ทั้งนี้อุปทานที่ลดลงจะเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้ราคาปาล์มน้ำมันมีโอกาสแตะ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน  ในขณะที่ราคาเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 614 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

       แม้ว่าสภาพอากาศจะเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรต้องเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเครื่องมือทางการเงินที่สามารถใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวได้ อาทิ บริษัทผู้นำเข้า/ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรสามารถป้องกันความเสี่ยงโดยการใช้ตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงบนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Derivatives) โดยมีตลาดซื้อขายของกลุ่ม CME Group เช่น Chicago Board of Trade (CBOT) และ Chicago Mercantile Exchange (CME) เป็นศูนย์กลางการซื้อขายที่สำคัญของโลก โดยมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าบนสินค้าเกษตรมากกว่า 160 ชนิด ในขณะประเทศมาเลเซียมีตลาด Bursa Malaysia Derivatives (BMD) เป็นศูนย์กลางการซื้อขายที่สำคัญของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปาล์มน้ำมัน สำหรับประเทศไทยมีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าอ้างอิงทั้งหมด 7 ชนิด เช่น ยางพารา, ข้าว, มันสำปะหลังเส้น เป็นต้น และในอนาคตอันใกล้จะมีการทยอยนำสินค้าเกษตรล่วงหน้าใน AFET มารวมไว้ที่ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการซื้อขายล่วงหน้า เพิ่มสภาพคล่องและลดต้นทุนของผู้ลงทุนในการทำธุรกรรม ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายอนุพันธ์ทุกประเภทได้ในแห่งเดียว

       นอกจากการลงทุนผ่านทางตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงบนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นักลงทุนสามารถที่จะลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์หลากหลายชนิดได้ สำหรับกองทุน SCB Commodity Plus นั้น เราได้เลือกลงทุนผ่านกองทุน PIMCO  Commodities Plus Strategy ซึ่งได้ปรับตัวลดลงมาอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญาอาจทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตอีกทางหนึ่ง

       อย่างไรก็ตามการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงแตกต่างกัน กองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด